คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1065/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกน้ำมันด้วยอัตราความเร็ว 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้สำหรับรถบรรทุกน้ำมันสำหรับในเขตเทศบาล (กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 พ.ศ.2509 ข้อ10 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477)แต่ต่อมาพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 3ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 และได้มีกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 พ.ศ.2522 ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ข้อ 1 ได้กำหนดความเร็วสำหรับรถไว้สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัมหรือบรรทุกคนโดยสารให้ขับในเขตกรุงเทพมหานครเขตเมืองพัทยาหรือเขตเทศบาลไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร ฯลฯ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีจะถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การขับรถของจำเลยที่ 1 จึงไม่เร็วเกินกว่ากำหนดความเร็วตามกฎหมายใหม่ซึ่งบัญญัติไว้ให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทอันจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยที่ 1ขับรถบรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน ช.น.01916 ไปตามถนนกรุงเทพ-สระบุรีจากกรุงเทพมุ่งหน้าไปจังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 2 ขับรถแท็กซี่รับจ้างหมายเลขทะเบียนก.ท.ท-8361 ไปตามถนนกรุงเทพ-สระบุรี จากท่าอากาศยานดอนเมืองมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ กลางถนนมีเกาะแบ่งแนวจราจรให้รถวิ่งคนละทาง เมื่อจำเลยทั้งสองขับรถแล่นมาถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการทหารอากาศ จำเลยทั้งสองได้ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยทั้งสองอาจใช้ความระมัดระวังได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถดังกล่าวมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งกลางถนนตอนนั้นไม่มีเกาะกลางถนนและมีช่องว่างไว้เพื่อให้กลับรถ จำเลยที่ 2ได้ขับรถเข้าช่องว่างนั้นเลี้ยวขวาที่หัวเกาะเพื่อกลับรถมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรีในทันทีอย่างน่าหวาดเสียวว่าจะเกิดอันตราย โดยมิได้หยุดดูเพื่อให้รถที่แล่นในเส้นทางตรงแล่นผ่านไปก่อนและตัดหน้ารถบรรทุกน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งแล่นในเส้นทางตรงมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรีอย่างกระชั้นชิด และจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกน้ำมันด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและเป็นรถที่มีน้ำหนักมาก ตามกฎหมายให้แล่นชิดขอบทางด้านซ้ายกลับแล่นทางขวาจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที จึงเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเกิดชนกันขึ้นในถนนที่ให้รถแล่นจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดสระบุรี เสียหาย และรถที่จำเลยที่ 1 ขับได้แฉลบไปชนรถยนต์ก.ท.ก-5267 และรถยนต์ ก.ท.ท-6657 และรถยนต์ ฉ.ช.0111 เสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 ประกาศของคณะปฏิบัติฉบับที่ 59

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515ข้อ 11 ปรับคนละ 1,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่นั้น ได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การต่อร้อยตำรวจโทชัยทัศน์ รัตนพันธ์ พนักงานสอบสวน(รองสว.จร.สน.บางเขน) ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแม้ในชั้นพิจารณาจะเบิกความรับว่าขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็เป็นความเร็วที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้สำหรับรถบรรทุกน้ำมันสำหรับในเขตเทศบาล (กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2509) ข้อ 10 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477) แต่ต่อมาพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477และได้มีกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 1 ได้กำหนดความเร็วสำหรับรถไว้ดังต่อไปนี้ (1) สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัมหรือรถบรรทุกคนโดยสารให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยาหรือเทศบาลไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร ฯลฯ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3ได้บัญญัติไว้ว่าถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีจะถึงที่สุดแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การขับรถของจำเลยที่ 1 จึงไม่เร็วเกินกว่ากำหนดความเร็วตามกฎหมายใหม่ซึ่งบัญญัติไว้ให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว และยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ขับรถโดยประมาทอันจะเป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง

พิพากษายืน

Share