คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ประกอบดัดแปลงโดยใช้ชิ้นส่วนเก่าภายในประเทศ มิใช่รถยนต์ที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศหรือมีการลักลอบนำแค้ปของรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายใน ประเทศโดยไม่เสียภาษีจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะยึดรถคันพิพาทของโจทก์ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อในการยึดรถยนต์คันพิพาทอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าสีแดงหมายเลขทะเบียน ๙ ก – ๙๙๙๙ กรุงเทพมหานคร โดยซื้อมาจากนายสุชัย ธงพานิช ในราคา ๒๓๕,๐๐๐ บาท โจทก์ชำระราคาและรับโอนรถยนต์มาเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗ จดทะเบียนถูกต้องที่กองทะเบียน กรมตำรวจรถยนต์คันดังกล่าวได้เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมาจนปัจจุบัน โจทก์ซื้อมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ได้ขอนำยึดรถยนต์ของโจทก์เพื่อทำการตรวจสอบโดยอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศโดยไม่เสียภาษี โจทก์ได้แสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ซื้อและรับโอนมาโดยสุจริตจากกองทะเบียน กรมตำรวจและมีค่าตอบแทน โจทก์ได้เสียภาษีทุกปีแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยก็เพิกเฉยกลับนำรถยนต์ของโจทก์ไปยังสถานที่ที่ทำการของจำเลยที่ ๑ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๑ และตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า สีแดง ทะเบียนกรุงเทพมหานครหมายเลขทะเบียน ๙ ก – ๙๙๙๙ ให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย หากส่งมอบรถยนต์คืนให้โจทก์ไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์เป็นจำนวน ๒๓๕,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราวันละ ๑,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้ส่งมอบรถยนต์คืน หรือชดใช้ราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๙ ก – ๙๙๙๙ ที่ยึดจากโจทก์เป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติศุลกากรและประกาศกระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจยึดไว้ได้โดยชอบไม่เป็นการละเมิด นายสุชัยได้รถยนต์คันพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างว่าโจทก์รับโอนมาโดยสุจริตก็ไม่ทำให้รถยนต์คันพิพาทกลายเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยจึงมีอำนาจยึดรถยนต์คันพิพาทไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน และมีอำนาจยึดรถยนต์ที่โจทก์ครอบครองไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ และจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้าสีแดง หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร ๙ ก – ๙๙๙๙ คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินแก่โจทก์ ๑๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๑๕๐ บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๐) จนกว่าจำเลยที่ ๑ จะคืนรถยนต์ให้โจทก์หรือใช้ราคารถยนต์คืนแก่โจทก์เสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๙ ก – ๙๙๙๙ กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ยึดรถคันดังกล่าวป็นของกลาง เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ โดยอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศโดยไม่ได้เสียภาษี ปัญหาวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ ๑ มีอำนาจยึดรถยนต์ของโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายหรือไม่ ในประเด็นแรกจำเลยนำสืบว่ามีผู้แจ้งความว่า มีผู้ลักลอบนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนแล้วจึงไปยึดรถยนต์คันพิพาทไปจากโจทก์ ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นและยึดเอกสารหมาย ล.๑๒ ซึ่งมีข้อความว่าเป็นการยึดเนื่องจากสงสัยว่าเป็นรถยนต์ที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้เสียภาษีอันเป็นความ ผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๗ ทวิ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖, ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ ในการยึดดังกล่าวโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ทราบว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ลิปแบค คูเป้ ซึ่งผลิตในประเทศไทยซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้บันทึกข้อความดังกล่าวไว้ด้วย โจทก์นำสืบนายสุชัยเจ้าของรถยนต์คันพิพาทคนเดิม และเป็นผู้จ้างให้มีการซ่อมโดยประกอบรถยนต์คันพิพาทขึ้นใหม่ นายสุชัยเบิกความว่ารถยนต์คันพิพาทเดิมเป็นรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าโคโรล่า ลิปแบค ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่ประสบอุบัติเหตุเสียหายมาก จึงให้ช่างซ่อมโดยดัดแปลงใหม่เป็นรถยนต์ โตโยต้า สปินเตอร์ ทรูโน่ คูเป้ โดยใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีจำหน่ายในประเทศยกเว้นแต่หลังคารถเท่านั้น ที่เป็นของซื้อมาจากต่างประเทศและได้เสียภาษีอากรถูกต้องแล้ว โดยในการประกอบรถยนต์คันพิพาทขึ้นใหม่นั้น นายสุชัยได้ถ่ายรูปไว้ด้วยปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.๓ นายเส็ง ธนาทิพยกุล ผู้รับจ้างซ่อมรถยนต์คันพิพาทเบิกความเป็นพยานจำเลยรับกับคำนายสุชัย ดังกล่าว นายชวลิต ก้อนทอง พยานจำเลยคนหนึ่งที่เป็นผู้จับกุมรถยนต์คันพิพาท เบิกความว่าในครั้งแรกตั้งข้อหาว่าลักลอบนำรถยนต์ทั้งคันเข้ามาภายในประเทศ ต่อเมื่อได้รับภาพถ่ายจากโจทก์แล้ว จึงได้ตั้งข้อหาว่านำแค้ปหมายถึงห้องโดยสารรวมทั้งพื้นรถ เข้ามาภายในประเทศ ก็นับว่าเจือสมกับคำนายสุชัยโดยฝ่ายจำเลยรับว่ามิได้มีการนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศ คงอ้างใหม่ว่านำแค้ปเข้ามาเท่านั้น คำว่านำแค้ปนี้ นายอำนาจ ชูดอกพุธ พยานจำเลยเบิกความว่าหมายถึงห้องโดยสารปกติจะมีหลังคาด้วย แต่เมื่อพิจารณาดูภาพถ่ายหมาย จ.๓ ภาพที่ ๓ แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าหลังคารถยนต์แยกออกต่างหากจากห้องโดยสาร เฉพาะในภาพดังกล่าวช่างกำลังเอาหลังคารถยนต์มาประกอบเข้ากับตัวถังของรถ จึงเห็นได้ว่าหลังคาของรถเป็นส่วนที่แยกออกต่างหากจากตัวถังหรือห้องโดยสารหรือแค้ปของรถ โจทก์นำสืบว่าเฉพาะหลังคาของรถยนต์พิพาทเท่านั้น ที่เป็นชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งได้เสียภาษีถูกต้องแล้ว จำเลยอ้างว่ามีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๘๒) พ.ศ.๒๕๒๐ ห้ามนำเข้าตัวถังรถยนต์หรือแค้ปเก่าที่ใช้แล้วมาจากต่างประเทศ แต่นายสมพงษ์ สุขา พยานจำเลยก็เบิกความว่าเชียงกงหรือศูนย์ขายอะไหล่รถยนต์เก่า หากได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายแล้วก็อาจจะ นำแค้ปเก่าเข้ามาได้ ดังนั้นจึงอาจจะมีแค้ปเก่าขายภายในประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ นายสุชัยเบิกความยืนยันว่าได้ซื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ ยกเว้นหลังคารถมาจากศูนย์ขายอะไหล่รถยนต์เก่าภายในประเทศ โดยมีนายเส็งผู้รับจ้างทำการซ่อมรถคันพิพาทเบิกความสนับสนุน จึงไม่เป็นข้อพิรุธน่าสงสัยอย่างใด แม้จะไม่มีหลักฐานการซื้อขายมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่โจทก์ก็นำสืบพอฟังได้ว่าการซื้อขายอะไหล่รถยนต์เก่าจากศูนย์ที่ขายสินค้าดังกล่าว ผู้ขายจะไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ เว้นแต่การซื้อขายเครื่องยนต์เก่า ซึ่งจำเป็นต้องนำหลักฐานการซื้อขายไปขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหมายเลขเครื่องยนต์ เช่นนี้จึงไม่ทำให้น้ำหนักพยานโจทก์เสียหายไปถึงกับจะรับฟังไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ ว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ประกอบดัดแปลงขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนเก่าภายในประเทศ มิใช่รถยนต์ที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศหรือมีการลักลอบนำแค้ปของรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศ โดยไม่เสียภาษี ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจที่จะยึดรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ได้
ส่วนในประเด็นเรื่องโจทก์เสียหายหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไปทำการยึดรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์โดยอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาในประเทศโดยไม่เสียภาษี โจทก์ก็ได้โต้แย้งคัดค้านในทันทีว่ารถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์ที่ดัดแปลงจากรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นลิปแบกซึ่งผลิตในประเทศไทย ทั้งโจทก์ก็รับจะติดต่อผู้ดัดแปลงและนำหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงในภายหลัง รวมทั้งโจทก์ได้แสดงสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตรวจดูด้วย และปรากฏว่าหมายเลขเครื่องยนต์กับหมายเลขตัวถังรถก็ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ อ้างว่าจากการตรวจสอบอุปกรณ์บางอย่างภายในและภายนอกตัวรถพบว่าเป็นรถที่ผลิตจากต่างประเทศและไม่มีพยาน หลักฐานการนำเข้า จึงได้ทำการยึดรถยนต์คันพิพาทไว้ ดังที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้บันทึกไว้ในบันทึกการตรวจค้นและยึดรถยนต์คันพิพาทเอกสารหมาย จ.๑๒ ศาลฎีกาเห็นว่า จากหลักฐานและคำชี้แจงของโจทก์น่าจะทำให้พอเชื่อถือได้ในเบื้องต้นว่ามิได้มีข้อพิรุธน่าสงสัยถึงกับจะต้องทำการยึดรถยนต์คันพิพาท เพียงแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตรวจสอบอุปกรณ์บางอย่างภายในและภายนอกตัวรถพบว่าเป็นรถที่ผลิตจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ควรจะทราบได้ว่าอุปกรณ์เช่นนั้นสามารถซื้อได้ภายในประเทศ และโจทก์ก็ได้รับเองว่าจะติดต่อกับผู้ดัดแปลงและนำหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงด้วย และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจะมีการยักย้ายหรือซ่อนเร้นรถยนต์คันพิพาทอย่างใด ทั้งโจทก์เป็นข้าราชการระดับสูงมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากมีความจำเป็นอันสมควรจะต้องยึดรถยนต์ดังกล่าวก็อาจจะกระทำได้โดยง่าย ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบ ไต่รตรองถึงเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็จะทราบได้ว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะยึดรถยนต์คันพิพาทจึงถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อในการยึดรถยนต์คันพิพาท อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายสำหรับค่าเสียหายตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้นั้นไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา จึงเป็นอันยุติ
พิพากษายืน

Share