แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คลองชลประทานซึ่งเป็นทางน้ำที่ราษฎรทั่วไปมีสิทธิใช้สัญจรไปมาได้เป็นทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349,1350 แม้พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 15 จะบัญญัติให้อธิบดีกรมชลประทานมีอำนาจ (1) ปิด ฯลฯ (2) ขุดลอก ฯลฯ(3) ห้ามจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเรือ แพ ผ่านทางน้ำชลประทาน (1) หรือ (2) ได้แต่ก็เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้อธิบดีกรมชลประทาน จัดการดูแลรักษาทางน้ำชลประทานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเพื่อประโยชน์ของการชลประทานเท่านั้นหาทำให้ทางน้ำ ที่ราษฎรใช้ในการคมนาคมกลายสภาพเป็นทางน้ำที่ไม่ใช่ทาง สาธารณะไม่ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดิน ของจำเลยทั้งสองซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5140 โจทก์ที่ 1และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาปี 2531ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ออกเป็นที่ดินหลายโฉนดโจทก์ที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5140, 20778 และ 20779 และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20778, 20779 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3ตามลำดับ ส่วนจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19077ซึ่งมีคูน้ำและถนนเลียบคูน้ำกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวตลอดแนวด้านทิศใต้ของที่ดิน ผ่านเป็นทางเข้าออกสู่ถนนคลองบางสิงห์เมื่อปี 2532 จำเลยทั้งสองร่วมกันปิดกั้นถนนเลียบคูน้ำดังกล่าวที่ดินของโจทก์ทั้งสามอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าถนนเลียบคูน้ำกว้าง 5 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19077 เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5140, 20778 และ 20779 ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการผ่านทางและให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากทางดังกล่าว ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการรื้อถอนได้
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามติดคลองเปรมประชากรซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา ที่ดินของจำเลยทั้งสองไม่มีถนนเลียบคูน้ำมีเพียงคันสวนกว้างประมาณ 2 เมตร ที่ดินโฉนดเลขที่ 19077ของจำเลยทั้งสองใช้น้ำจากคลองเปรมประชากรที่ไหลผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 20778 ของโจทก์ที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของคูร่องสวนกว้าง 2 เมตรที่ดินโฉนดเลขที่ 20778 ของโจทก์ที่ 2 จึงตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19077 ของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนให้คูร่องสวนกว้าง 2 เมตรในที่ดินโฉนดเลขที่ 20778 ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19077 ของจำเลยทั้งสอง ถ้าโจทก์ที่ 2 ไม่ปฏิบัติก็ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2
โจทก์ที่ 2 ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ปิดกั้นคูน้ำที่ไหลผ่านที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่ดินของโจทก์ที่ 2และจำเลยทั้งสองแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5140 ยังไม่ถึง10 ปี คูร่องสวนในที่ดินของโจทก์ที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์สืบพยานโจทก์บางส่วนแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเปิดทางถนนเลียบคูกว้าง 5 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19077ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีเป็นทางจำเป็นให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5140, 20778 และ 20779ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนประตูรั้วสังกะสีและสิ่งกีดขวางออกจากทางจำเป็น หากไม่ปฏิบัติให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ดำเนินการได้ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมจึงเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้ง และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเดิมโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5140 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานีจังหวัดปทุมธานี ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวถูกแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ออกเป็นหลายโฉนดโดยโฉนดเลขที่ 5140, 20778 และ 20779 เป็นของโจทก์ที่ 1 ส่วนโฉนดเลขที่ 19077 เป็นของจำเลยทั้งสองต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20778 และ 20779ให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2ทางด้านทิศตะวันตกติดคลองเปรมประชากรซึ่งเป็นทางน้ำชลประทานประเภท 2 อยู่ในความดูแลรักษาของอธิบดีกรมชลประทานตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า คลองเปรมประชากรเป็นทางสาธารณะตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349, 1350 หรือไม่ โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า คลองเปรมประชากรซึ่งเป็นทางน้ำชลประทานประเภท 2 กรมชลประทานมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือเก็บกัก รักษาน้ำ ส่ง และระบายน้ำเพื่อการเกษตรมิใช่เพื่อการคมนาคมและการที่ประชาชนใช้คลองเปรมประชากรในการคมนาคมก็มีข้อจำกัดโดยอธิบดีกรมชลประทานอาจปิดเปิดหรือวางระเบียบได้ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485ดังนั้น คลองเปรมประชากรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทางสาธารณะตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349,1350 นั้น พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 4บัญญัติว่า “การชลประทาน” หมายความว่า กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำ หรือเพื่อกักเก็บ รักษา ฯลฯและหมายความรวมถึง การคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานด้วยและมาตรา 5 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ทางน้ำชลประทานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ฯลฯประเภทที่ 2 ทางน้ำที่ใช้ในการคมนาคม แต่มีการชลประทานร่วมอยู่ด้วยเฉพาะภายในเขตที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานประเภทที่ 3 ฯลฯ” นายอุดม สกุลพราหมณ์ หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ กรมชลประทาน พยานโจทก์เบิกความว่า คลองเปรมประชากรเป็นคลองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ประชาชนสามารถขับเรือหางยาวที่ไม่ใช่เรือโดยสารในคลองเปรมประชากรได้และในปัจจุบันเรือหางยาวก็สามารถแล่นในคลองดังกล่าวได้ซึ่งก็เจือสมกับสภาพคลองที่มีน้ำเต็มตามภาพถ่ายที่จำเลยส่งศาลดังนี้คลองเปรมประชากรจึงเป็นทางน้ำที่ราษฎรทั่วไปมีสิทธิใช้สัญจรไปมาได้ และเป็นทางสาธารณะตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349, 1350แม้พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 15จะบัญญัติให้อธิบดีกรมชลประทานมีอำนาจ (1) ปิด ฯลฯ (2) ขุดลอก ฯลฯ (3) ห้ามจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเรือ แพ ผ่านทางน้ำชลประทาน (1) หรือ (2) ก็ตาม แต่อำนาจดังกล่าวก็เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้อธิบดีกรมชลประทานจัดการดูแลรักษาทางน้ำชลประทาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ของการชลประทานเท่านั้น หาทำให้ทางน้ำที่ราษฎรใช้ในการคมนาคมกลายสภาพเป็นทางน้ำที่ไม่ใช่ทางสาธารณะไม่ ดังนั้นที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ทางสาธารณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน