แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทนตามกฎหมายซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบของราชการ รวมทั้งเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฉะนั้นการนับอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่ออธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องที่ตัวแทนจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 นับถึงวันที่ 10 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ป. และ น. มีตำแหน่งเป็นนายช่างแขวงการทางชัยนาท ส่วน ธ. เป็นนิติกรประจำกองนิติการซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2537 แล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะเป็ฯเหตุให้ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันเวลาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 59,931 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 59,931 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นายประสิทธิ์ นายช่างแขวงการทางชัยนาท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้แจ้งเหตุละเมิดในคดีนี้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2537 ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2537 นายประสิทธิ์ได้ให้การในเรื่องเดียวกันนี้ต่อคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่งที่ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 10 (สุพรรณบุรี) ตั้งขึ้น ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2537 นายน้อย อารยะสกุล นายช่างแขวงการทางชัยนาทและนายชลอ บัวศรี ได้ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย ล.1 ขึ้น โดยนายชลอตกลงจะเป็นผู้ซ่อมแซมและชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ และต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2538 นายน้อยได้รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนให้ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 10 (สุพรรณบุรี) ทราบตามหนังสือพร้อมรายงานการสอบสวนเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งตามรายงานการสอบสวนเอกสารหมาย จ.10 ได้ระบุผู้ที่จะต้องรับผิดในทางแพ่งว่ามี 3 คน คือ นายชลอ จำเลย และบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.11 ทวงให้จำเลยและนายชลอชดใช้ค่าเสียหาย จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างแน่นอนแล้วตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 ซึ่งเกินกำหนด 1 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทนตามกฎหมาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบของราชการ รวมทั้งเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฉะนั้น การนับอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งเป็นเอกสารที่กองนิติการของโจทก์มีไปถึงอธิบดีผู้แทนโจทก์ว่า นายเทิดศักดิ์ อธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องที่ตัวแทนจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 นับถึงวันที่ 10 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2537 และนายประสิทธิ์นายช่างแขวงการทางชัยนาท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้แจ้งเหตุละเมิดในคดีนี้ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2537 และได้ไปให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 10 (สุพรรณบุรี) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2537 ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2537 นายชลอก็มาทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้โดยยอมรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์ โดยหนังสือดังกล่าวมีนายน้อยนายช่างแขวงการทางชัยนาทลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้แทนโจทก์ และต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2538 นายน้อยมีหนังสือแจ้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนให้ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 10 (สุพรรณบุรี) ทราบ โดยระบุว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดมี 3 คน คือ นายชลอ จำเลย และบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 นายธีรพล สมุทระประภูต นิติกรของโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย กรณีต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างแน่นอนแล้วตั้งแต่ปี 2544 โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 16 กันยายน 2547 จึงเกินกว่า 1 ปี นั้น เห็นว่า นายประสิทธิ์และนายน้อยมีตำแหน่งเป็นนายช่างแขวงการทางชัยนาท ส่วนนายธีรพลเป็นนิติกรประจำกองนิติการซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2537 แล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะเป็นเหตุให้ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันเวลาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ