คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลย 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แล้วมีการขายทอดตลาดโดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากนั้นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย แต่มีการยอมความกันโดยให้จำเลยเช่า อยู่ต่อไป ต่อมาส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนไปโดยบอกว่าถ้าซื้อก็จะไม่มีหนี้สินต่อกันจำเลยจึงรับซื้อคืน ทำให้หนี้ตามคำพิพากษาระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับไป ซึ่งโจทก์ในฐานะตัวการต้องผูกพันต่อจำเลย ส่วนความรับผิดระหว่างโจทก์กับ ส. จะเป็นประการใดเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเองหามีผลกระทบต่อจำเลยไม่ เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยหมดสิ้นต่อกันแล้ว การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินแปลงดังกล่าวอีกเป็นครั้งที่ 2 จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่โจทก์ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2533 ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 100,000 บาท

จำเลยยื่นคำร้องว่า ในการขายทอดตลาดโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยเข้าสู้ราคา หากจำเลยเข้าสู้ราคาจะขายที่ดินได้ไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท เพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยวิธีการฉ้อฉล หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินได้แล้ว โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินต่อในอัตราเดือนละ 600 บาท ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2537 จำเลยซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากโจทก์ในราคา 120,000 บาท และโจทก์แจ้งจำเลยว่าไม่มีหนี้สินใด ๆ กับโจทก์แล้ว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวอีก โดยประเมินราคาทรัพย์ที่ยึด 80,500 บาทจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าราคาประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงต่อศาลแล้ว การกระทำของโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีดังกล่าว

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดเป็นไปโดยสุจริตชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของกรมบังคับคดี ในการขายทอดตลาดครั้งแรกโจทก์ซื้อได้และได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน ต่อมาจำเลยได้ซื้อที่ดินดังกล่าวคืนจากโจทก์ จำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์ตามบัญชีรายละเอียดหนี้สิน ณ วันที่ 16 เมษายน 2533 เป็นเงิน 46,707.74 บาท ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2540 โจทก์จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2533 ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยประเมินราคา 80,500 บาท ตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่ดินดังกล่าวต่อมาได้ออกเป็นโฉนดแล้วตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17565 ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วจากการนำสืบของจำเลยและโจทก์ได้ข้อเท็จจริงต้องตรงกันในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยคือที่ดิน 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2533 เอกสารหมาย ร.1 (ค.3)ต่อมาเปลี่ยนเป็นที่ดินมีโฉนด ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17565 เอกสารหมาย ร.2 สำหรับที่ดินแปลงนี้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม2531 แล้วได้มีการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2533 โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 100,000 บาท จากนั้นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยแล้วมีการยอมความกันโดยให้จำเลยเช่าอยู่ต่อไป ต่อมานายสุภัทร วัฒนวิทย์ ซึ่งเป็นผู้จัดการโจทก์สาขาจัตุรัส และเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ให้จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวคืนไปเป็นของจำเลยอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นการยึดที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 จึงเป็นการยึดที่ดินแปลงเดียวกันเป็นครั้งที่ 2 ปัญหาที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยครั้งที่ 2 นี้ชอบหรือไม่ ซึ่งจะได้วินิจฉัยโดยละเอียดดังต่อไปนี้ ในการบังคับคดีนั้นโดยหลักแล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่าเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วน ก็ชอบที่จะติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ให้ครบถ้วนได้ แต่สำหรับคดีนี้มูลคดีมิได้เป็นดังเช่นคดีทั่ว ๆ ไป หากแต่เป็นการยึดที่ดินแปลงเดียวกันของจำเลยเพื่อชำระหนี้รายเดียวกันถึง 2 ครั้ง เหตุใดเป็นเช่นนั้นและจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยกลับไปซื้อที่ดินจากโจทก์มาเพื่อให้โจทก์ตามมายึดกลับเอาไปขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์อีกครั้งหนึ่ง น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยฝืนต่อความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้ความจากจำเลยว่าเหตุที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงเดิมคืนก็เพราะนายสุภัทรบอกว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีหนี้สินต่อกันแล้ว ฉะนั้น หากการซื้อที่ดินดังกล่าวไม่ทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยหมดไป จำเลยก็ไม่ซื้อ นอกจากนี้ยังได้ความว่า นายสุภัทรซึ่งเป็นผู้จัดการและผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในขณะนั้นได้ให้จำเลยซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืน อีกทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่าเหตุใดจำเลยต้องซื้อที่ดินคืนเพราะคดีไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยเช่าที่ดินอยู่นั้นได้รับความเดือดร้อนใด ๆ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวรูปคดีเชื่อได้ว่านายสุภัทรตกลงเช่นนั้นกับจำเลยจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ในฐานะที่นายสุภัทรเป็นทั้งผู้จัดการโจทก์สาขาจัตุรัสและเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ถือได้ว่านายสุภัทรเป็นตัวแทนของโจทก์กระทำการขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยแทนโจทก์โดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมให้หนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับไปด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะตัวการต้องผูกพันต่อจำเลย ส่วนความรับผิดระหว่างโจทก์กับนายสุภัทรจะเป็นประการใดนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการกันเองหามีผลกระทบต่อจำเลยไม่ กรณีฟังได้ว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยหมดสิ้นต่อกันแล้ว ฉะนั้น การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 จึงไม่ชอบ คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในฐานะผู้ร้องฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดทรัพย์จำเลยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบโดยให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

Share