แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาโดยไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีได้ความว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่ปรากฏว่ามีเหตุเข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่จะต้องฟ้องคดีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ยกเว้นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 390/2550 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย โจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุด พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาโดยไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วและศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีได้ความว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550 ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่ปรากฏว่ามีเหตุเข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่จะต้องฟ้องคดีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6208/2550 (ประชุมใหญ่) ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดยโสธร โจทก์ นายทนงศักดิ์ สินทรัพย์ จำเลย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี