คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นคดีมโนสาเร่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 (1) ซึ่งกรณีโจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาความที่กำหนดไว้สำหรับการพิจารณาคดีมโนสาเร่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจศาลที่จะสั่งหรือไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 22,751.08 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,470 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 191 วรรคสอง แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าจ้างที่โจทก์จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลย โดยค่าจ้างและดอกเบี้ยคิดถึง วันฟ้องเป็นเงิน 22,751.08 บาท เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท จึงเป็นคดีมโนสาเร่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 189 (1) ซึ่งกรณีโจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องชัดเจนขึ้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 191 วรรคสอง ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาพิเศษที่กำหนดไว้สำหรับการพิจารณาคดีมโนสาเร่ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจศาลที่จะสั่งหรือไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง อย่างไรก็ดีตามคำฟ้องโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่าบริษัทพิพัฒน์ ซิเคียวริตี้การ์ด จำกัดนั้น คงมีระบุไว้เพียงแห่งเดียว แต่แห่งอื่น ๆ ทุกแห่งรวมทั้งสำเนาหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ ล้วนใช้ชื่อถูกต้องว่าบริษัทเลิศพรชัย จำกัด แสดงชัดเจนในตัวว่าน่าจะเป็นการพิมพ์ชื่อผิดไป จะไม่แก้ไขหรือแก้ไขก็เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่มีผลแก่คดี ซึ่งก็ได้ความว่าโจทก์แก้ไขส่วนนี้แล้ว และในส่วนของการว่าจ้างซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของ คำฟ้องบรรยายเข้าใจได้แล้วว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำอะไรให้ ระหว่างเวลาใด และโจทก์ทำงานตามที่จ้างแล้วเป็นค่าจ้างค้างชำระเท่าใด ย่อมชัดเจนเรื่องสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว คำฟ้องจึงไม่เคลือบคลุมด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 191 วรรคสอง แม้จะไม่จำเป็นแต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียหายแก่สิทธิที่คู่ความฝ่ายใดมีอยู่ ถือได้ว่าชอบแล้ว แม้ศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานคู่ความเสร็จแล้ว แต่ในประเด็นอื่นผลการวินิจฉัยอาจต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาได้ จึงยังไม่สมควรจะวินิจฉัยในชั้นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์กล่าวมาในคำแก้ฎีกาเป็นการตั้งประเด็นใหม่ ทำไม่ได้ในคำแก้ฎีกา จึงไม่มีข้อให้ต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share