คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่ต้องบรรยายฟ้องว่า การไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย เป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสอง แต่คดีนี้ฟ้องโจทก์ข้อ ข. กล่าวว่า “เมื่อจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นดังกล่าวในฟ้องข้อ 1(ก) แล้วจำเลยได้หลบหนีไปทันทีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ” และคำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78,160 เป็นการบรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(6) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคหนึ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กกก นม 606 ไปตามถนนสายโชคชัย นครราชสีมา จากทางตำบลท่าอ่างมุ่งหน้าไปทางบ้านตูมตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ด้วยความเร็วสูงแล้วเลี้ยวขวาข้ามทางเดินรถด้านขวาเข้าแยกไปบ้านตูมตัดหน้ารถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน ขธว นม 851 ซึ่งกำลังแล่นสวนทางมาในทางเดินรถดังกล่าว ในระยะกระชั้นชิดด้วยความประมาทไม่ชะลอความเร็วของรถ ไม่มองดูให้ปลอดภัยก่อนขับรถเลี้ยวขวา เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่แล่นสวนทางมานั้นหยุดรถไม่ทันแล่นพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยขับ รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายมานะ เกิดกระโทก ผู้ขับและนายอุดร พรวนกระโทก ผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่แล่นสวนทางได้รับอันตรายแก่กาย นายยอด หน่วยกระโทก ผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยขับถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้วจำเลยหลบหนีไปทันทีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(ที่ถูกมาตรา 43(4)), 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานประมาทเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ไปแสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 7 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 ปี ฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ไปแสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยก่อความเสียหายแล้วหลบหนี้ไม่ให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีมิได้บรรยายว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย จึงไม่อาจลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคหนึ่งได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่ต้องบรรยายฟ้องว่าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตายเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง แต่คดีนี้ฟ้องโจทก์ข้อ ข. กล่าวว่า “เมื่อจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นดังกล่าวในฟ้องข้อ 1(ก) แล้วจำเลยได้หลบหนีไปทันทีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ฯลฯ” และคำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ฯลฯ มาตรา 78, 160 ฯลฯ เป็นการบรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(6) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายปรับ 5,000 บาท ความผิดฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ไปแสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ปรับ 3,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายปรับ 2,500 บาท ฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ไปแสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ปรับ 1,500 บาท รวมโทษปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ภายในกำหนดเวลา 3 ปีให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้งและให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share