แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯและ ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ปรับคนละ 60 บาท จึงเป็นการแก้ไขมาก แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานั้น อีกทั้งมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 จึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐,๓๔๐ ตรี, ๓๗๑, ๙๑, ๘๓, ๓๓, ๓๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๔๐ (ที่ถูกมาตรา ๓๔๐ วรรคห้า), ๓๔๐ ตรี, ๓๗๑, ๙๑, ๘๓, ๓๓, ๓๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ ๑ ปีฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ ๖ เดือน ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน (ที่ถูกโดยมีหรือใช้อาวุธปืน) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามรวมโทษประหารชีวิตและจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต และจำคุก ๑ ปีจึงให้ลงโทษจำเลยทั้งสามจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ ลงโทษปรับคนละ ๙๐ บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับคนละ ๖๐ บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ รวมเป็นลงโทษจำเลยทั้งสาม จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ ๖๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗๒ ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุกคนละ ๖ เดือน ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุกคนละ๔ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๗๑ ปรับคนละ ๙๐ บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ปรับคนละ ๖๐ บาท จึงเป็นการแก้ไขมาก แต่ข้อหาความผิดนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ อีกทั้งมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๙ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหานี้นั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนข้อหาความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนทำการปล้นทรัพย์ตามฟ้องของผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาความผิดฐานนี้จริง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนกระเป๋าหนัง ๑ ใบ และบัตรประจำตัวข้าราชการ ๒ ใบ ราคา ๑๐๐ บาท อาวุธปืน๑ กระบอก ราคา ๕๐๐ บาท หากคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคาแทน ๑,๑๐๐ บาท แก่ทายาทของผู้ตายนั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องให้ใช้ราคาแทน ๖๐๐ บาท สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนกระเป๋าหนัง ๑ ใบ บัตรประจำตัวข้าราชการ ๒ ใบ และอาวุธปืน ๑ กระบอกไม่ได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๖๐๐ บาท แก่ทายาทผู้ตายนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.