คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้บริเวณที่เกิดเหตุมีสะพานลอยทางข้าม และผู้ตายข้ามถนนในช่องเดินรถอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 104 ที่บัญญัติว่า “ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม” การกระทำของผู้ตายดังกล่าวเป็นเพียงความผิดตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 147 มิใช่หมายความว่าถ้าผู้ตายฝ่าฝืนไม่ข้ามถนนตรงทางข้ามตามมาตรา 104 แล้วจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเสมอไป การพิจารณาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย
ขณะเกิดเหตุเวลา 5.30 นาฬิกา ท้องฟ้งยังมืด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าข้างฟุตบาทและที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งอยู่กึ่งกลางถนน ผู้ขับรถผ่านบริเวณนั้นยังต้องเปิดไฟหน้ารถซึ่งโดยสภาพไม่น่าจะมองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ไกลเท่ากับเวลากลางวัน สภาพของถนนที่มีทางเดินรถฝั่งละ 3 ช่องเดินรถในเวลาเกิดเหตุเป็นตอนเช้ามืดของวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ รถที่แล่นบนถนนน่าจะน้อยกว่าวันปกติซึ่งทำให้ผู้ขับรถสามารถขับรถได้เร็วขึ้นกว่าวันปกติ ถนนบริเวณเกิดเหตุเป็นทางตรง การข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งต้องข้ามถนนถึง 6 ช่องเดินรถซึ่งรถที่แล่นไปมาในขณะนั้นน่าจะใช้ความเร็วสูงในสภาพเช่นนั้น ดังนั้น ผู้ตายควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการข้ามถนนเนื่องจากเป็นถนนใหญ่มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืนซึ่งผู้ขับรถอาจไม่เห็นคนข้ามถนนในระยะไกลที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้ ตรงจุดที่ผู้ตายข้ามถนนมีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายบังอยู่อันอาจทำให้จำเลยไม่สามารถเห็นผู้ตายได้ในระยะไกล แต่เห็นในระยะกระชั้นชิดจึงไม่สามารถหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้ชนผู้ตาย ดังนั้น การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2)

ย่อยาว

ฟ้องโจทก์และแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงในเวลากลางคืนซึ่งไม่มีแสงสว่างเพียงพอแก่การมองเห็น เป็นเหตุให้ชนนางสาวอุไรขณะกำลังเดินข้ามถนนจนถึงแก่ความตายและจำเลยได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางเชื้อมารดานางสาวอุไรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ยกฟ้องโจทก์ร่วม (ที่ถูก ยกคำร้องข้อเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม)
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมข้อแรกว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย และโจทก์ร่วมมีอำนาจจัดการแทนผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า แม้บริเวณที่เกิดเหตุมีสะพานลอยทางข้าม และผู้ตายข้ามถนนในช่องเดินรถอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 104 ที่บัญญัติว่า “ภายในระยะไม่เกินร้อยเมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม” การกระทำของผู้ตายดังกล่าวเป็นเพียงความผิดตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 147 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท มิใช่หมายความว่าถ้าผู้ตายฝ่าฝืนไม่ข้ามถนนตรงทางข้ามตามมาตรา 104 แล้วจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเสมอไป การพิจารณาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.2 ถนนที่เกิดเหตุมี 6 ช่องเดินรถ และแบ่งทางเดินรถให้ขับสวนทางกันได้ข้างละ 3 ช่องเดินรถ เหนือจุดเกิดเหตุเป็นสะพานลอยทางข้าม ถนนฝั่งไปอำเภอสำโรงตรงใต้สะพานลอยทางข้ามมีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายจอดอยู่ ผู้ตายข้ามถนนด้านหน้ารถยนต์โดยสารใกล้กับสะพานลอยและถูกชนตรงช่องเดินรถช่องที่ 2 อันเป็นช่องกลางของถนนฝั่งนี้ เห็นว่า เหตุเกิดเวลา 5.30 นาฬิกา ซึ่งขณะนั้นท้องฟ้ายังมืด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าข้างฟุตบาทและที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งอยู่กลางถนน ผู้ขับรถผ่านบริเวณนั้นยังต้องเปิดไฟหน้ารถซึ่งโดยสภาพไม่น่าจะมองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ไกลเท่ากับเวลากลางวัน สภาพของถนนที่มีทางเดินรถฝั่งละ 3 ช่องเดินรถในเวลาเกิดเหตุเป็นตอนเช้ามืดของวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ รถที่แล่นบนท้องถนนน่าจะน้อยกว่าวันปกติซึ่งทำให้ผู้ขับรถสามารถขับรถได้เร็วกว่าวันปกติ ถนนบริเวณเกิดเหตุเป็นทางตรง การข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งต้องข้ามถนนถึง 6 ช่องเดินรถ ซึ่งรถที่แล่นไปมาในขณะนั้นน่าจะใช้ความเร็วสูงในสภาพเช่นนั้น ดังนั้น ผู้ตายควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการข้ามถนนเนื่องจากเป็นถนนใหญ่มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืนซึ่งผู้ขับรถอาจไม่เห็นคนข้ามถนนในระยะไกลที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้ ตรงจุดที่ผู้ตายข้ามถนนมีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายบังอยู่อันอาจทำให้จำเลยไม่สามารถเห็นผู้ตายได้ในระยะไกล แต่เห็นในระยะกระชั้นชิดจึงไม่สามารถหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้ชนผู้ตาย ดังนั้น การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4), 5 (2), และ 3 (2) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อที่เหลือ”
พิพากษายืน

Share