คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเจรจาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทยังตกลงกันไม่ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลย รู้ ว่าทรัพย์มรดกส่วนที่เป็นที่ดินจำเลยต้องแบ่งให้แก่ทายาททุกคน เท่า ๆ กันแต่จำเลยจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน โดยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการ ทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียน โอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียง แซ่เจี่ยหรือแซ่อึ้ง หรือผิวพานิช ตามคำสั่งศาล จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ยักยอกที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะตกทอดแก่ทายาทซึ่งเป็นผู้เสียหาย กับจำเลยไปเป็นของจำเลยเอง โดยจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว มิได้จัดแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ทายาทตามหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมายโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 354 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน4,974,987.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายบรรจง สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน4,974,987.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียงตามคำสั่งศาลนางเหลียงมีบุตร 9 คน คือนางสง่า โจทก์ร่วม นางกาญจนา นายใหญ่นางอารีย์ นายนิพนธ์ นางสาวเจริญ นางรำไพ และจำเลย เป็นทายาทโดยธรรม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2528 จำเลยได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินเฉพาะส่วนตามตราจองเลขที่ 88 ตำบลคลองกิ่ว(บ้านบึง) อำเภอบ้านบึง (บางปลาสร้อย) จังหวัดชลบุรี ราคา4,974,987.50 บาท เป็นชื่อของจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกก่อน แล้วจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทนั้นให้แก่จำเลยอีกทีหนึ่งตามหนังสือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี และสำเนาตราจอง เอกสารหมาย จ.11 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่… เห็นว่าการเจรจาแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางเหลียงระหว่างทายาทยังตกลงกันไม่ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น นางรำไพและนายนิพนธ์ทายาทซึ่งเป็นผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าทายาทส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียงเพราะได้มอบหมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการแบ่งปันทั้งเอกสารหลักฐานและทรัพย์มรดกทั้งหมดโจทก์ร่วมเป็นผู้เก็บรักษาไว้โดยนายชาญ กุลชราทรเทพ นำมามอบให้ในขณะที่จัดงานศพของนางเหลียง ซึ่งจำเลยก็รู้เห็น แต่จำเลยกลับไปแจ้งความว่าตราจองเลขที่ 88 สูญหายขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีออกใบแทน แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับจำเลยเบิกความว่าที่ดินตามตราจองเลขที่ 88 นี้ควรจะเป็นของจำเลยและนางอารีย์เพราะนางอารีย์ก็มีส่วนเสียหาย ทายาทอื่นไม่เสียหายมีแต่ได้ประโยชน์ จำเลยจึงไปยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียงและจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวโดยนางอารีย์ให้ใส่ชื่อจำเลยได้ก่อน แล้วค่อยแบ่งกันภายหลังและเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ที่ดินตามตราจองเลขที่88 เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกและเป็นชื่อของจำเลยถือกรรมสิทธิ์แล้วนั้น จำเลยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียงด้วย การจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354…”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353ประกอบด้วยมาตรา 354 จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม จำคุก 8 เดือน ปรับ 4,000บาท จำเลยเป็นหญิง มีฐานะดี มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,974,987.50 บาท แก่เจ้าของ.

Share