คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5080/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือนแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 257 อยู่ในฐานะหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) ส่วนดอกเบี้ยหรือเงินที่เกินหนึ่งแสนบาท เจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7)
การที่เจ้าหนี้ได้นำหนี้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นไปฟ้องเป็นคดีแรงงาน จนกระทั่งศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) มีคำพิพากษา ถือว่าเป็นการรับรองสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้อีกชั้นหนึ่งและทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และเจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้อันเกิดจากการเลิกจ้างซึ่งมีคำพิพากษารับรองแล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้ก็หาทำให้บุริมสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ก่อนแล้วเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 รายละเอียดตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละราย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสี่สิบเก้าราย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้ทั้งสี่สิบเก้ารายได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 เป็นลูกจ้างของลูกหนี้ที่ 1 โดยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวันทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน และกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ลูกหนี้ที่ 1 เลิกจ้างเจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 โดยเจ้าหนี้ไม่ได้กระทำความผิดและลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และค้างจ่ายค่าจ้างแก่เจ้าหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2544 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกหนี้ที่ 1 มีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่เจ้าหนี้แต่ละรายตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) หรือไม่ มาตรา 130 บัญญัติว่า “ในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้น ให้ชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามลำดับดังต่อไปนี้…(6)… เงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพื่อการงานที่ได้ทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างตามมาตรา 257 แห่ง ป.พ.พ. และตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”
ป.พ.พ. มาตรา 257 บัญญัติว่า “บุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ให้ใช้สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือนแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง”
ดังนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 257 แล้ว จึงได้ความว่า หนี้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือนแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง หนี้ดังกล่าวนี้ย่อมอยู่ในฐานะหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินจำนวนที่ขอมานั้นย้อนหลังไปเพียง 1 เดือน เจ้าหนี้จึงมีบุริมสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 257 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) ในจำนวนรวมไม่เกิน 100,000 บาท ในส่วนดอกเบี้ยหรือในส่วนที่เกิน 100,000 บาท เจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7)
ส่วนที่เจ้าหนี้ทั้งหมดได้นำหนี้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นไปฟ้องเป็นคดีแรงงาน จนกระทั่งศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ สป.1519 ถึง 1567/2544 ถือว่าเป็นการรับรองสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้อีกชั้นหนึ่งและทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาส่วนแพ่ง เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด และเจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 ได้นำมูลหนี้อันเกิดจากการเลิกจ้างซึ่งมีคำพิพากษารับรองแล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้ก็หาทำให้บุริมสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ก่อนแล้วเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่อนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 ได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7) ทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 61 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้รายที่ 13 ถึงที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 61 ได้รับชำระหนี้ในเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำสั่งของศาลล้มละลายกลางตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) ส่วนดอกเบี้ยที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ดังกล่าวได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7) ในส่วนเจ้าหนี้รายที่ 20 ให้ได้รับชำระหนี้จำนวน 100,000 บาท ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) ในส่วนหนี้ที่เหลือตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางให้ได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7) ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share