คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัทโจทก์เปลี่ยนชื่อไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงนิติบุคคล โจทก์ยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิม แม้ไม่แจ้งการเปลี่ยนชื่อให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างโจทก์ทราบ ก็ไม่เป็นผลให้สัญญาค้ำประกันสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ในขณะทำงานให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 203,655.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 173,324.05 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 203,655.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 173,324.05 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กรกฎาคม 2546) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เดิมบริษัทโจทก์ใช้ชื่อว่า บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้กับบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด (มหาชน) ต่อมาบริษัทโจทก์เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไอ. ซี. ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จึงทำให้สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์นั้นสิ้นสุดลงตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีความผูกพันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ เห็นว่า โจทก์เปลี่ยนชื่อบริษัท มิใช่การเปลี่ยนแปลงนิติบุคคล โจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิม และยังให้จำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งเดิม หน้าที่การงานเดิม โดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับภาระมากขึ้น การที่โจทก์ไม่แจ้งการเปลี่ยนชื่อบริษัทให้จำเลยที่ 2 ทราบนั้น ไม่มีผลกระทบต่อสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ จึงไม่เป็นเหตุให้สัญญาค้ำประกันสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ในขณะทำงานให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share