คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ การที่ลูกหนี้ประกอบธุรกิจตามที่ได้รับอนุญาตแล้วเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินถึงขนาดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่คอย ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจของลูกหนี้และสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์ต้องขอร้องให้เจ้าหนี้ทั้งสามรายเข้าไปช่วยเหลือย่อมแสดงว่าในขณะนั้นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และขาดความเชื่อถือจากสถาบันการเงินอื่น จึงไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยลำพังตนเองเพื่อมาพยุงฐานะของตนได้ การที่เจ้าหนี้ทั้งสามให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินแม้จะเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามที่ได้รับการขอร้อง แต่ก็เป็นการยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ปัญหาที่ว่าหนี้รายใดจะต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ในคดี ล้มละลายหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นเจ้าหนี้ผู้โต้แย้งก็ชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153

ย่อยาว

คดีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 เจ้าหนี้รายที่ 125, 128, 129และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 127 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นเงิน1,597,987.37 บาท, 2,500,000 บาท, 1,384,931 บาทและ 2,920,578.77 บาท ตามลำดับ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แล้ว เจ้าหนี้รายที่ 106 โต้แย้งว่าเจ้าหนี้ทั้งสี่ดังกล่าวได้รับชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน คงมีสิทธิได้รับชำะร*หนี้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่เจ้าหนี้ทั้งสี่จริงและเจ้าหนี้ทั้งสี่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งเป็นมูลหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ทั้งสี่จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เห็นควรอนุญาตให้เจ้าหนี้ทั้งสี่ได้รับชำระหนี้เป็นเงินรายละ 1,022,299.57 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ทั้งสี่แ*ตาละรายได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ผู้โต้แย้งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 125, 127,128, 129 เสีย เจ้าหนี้รายที่ 125,128, 129 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางสอบสวนพยานหลักฐานฝ่ายเจ้าหนี้ทั้งสามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่าเจ้าหนี้รายที่ 125,127, 128 และ 129 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534ลูกหนี้ประสบภาวะการเงินขาดสภาพคล่อง สมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์และธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้เจ้าหนี้ทั้งสี่เข้าช่วยเหลือโดยให้ลูกหนี้กู้เงินในการกู้เงินลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ทั้งสี่ไว้ ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ทั้งสี่รายละ 5,000,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 125 รวม 7 ฉบับ เจ้าหนี้รายที่ 127รวม 7 ฉบับ เจ้าหนี้รายที่ 128 รวม 8 ฉบับ และเจ้าหนี้รายที่129 รวม 7 ฉบับ มีคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูพลเรือโทโกเมท เครือตราชู นายแพทย์จุฑาเกียรติ เครือตราชูและนางพรรณทิพย์ หงษ์ประภาส นำที่ดินรวม 14 โฉนดมาจำนองเป็นประกันตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง 28 ในสำนวนคำขอรับ ชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 128 และมีข้อตกลงให้เจ้าหนี้ทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองเท่าเทียมกันต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2527 เจ้าหนี้ทั้งสี่และผู้จำนองได้ทำบันทึกข้อตกลงให้ผู้จำนองโอนที่ดิน 7 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างชำระหนี้โดยตีราคาที่ดินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายละ6,125,000 บาท เจ้าหนี้รายที่ 125 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน1,597,987.37 บาท เจ้าหนี้รายที่ 128 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 2,500,000 บาทเจ้าหนี้รายที่ 129 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 1,348,931 บาท
ทางสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ผู้โต้แย้งได้ความว่าลูกหนี้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2524 นายวิบูลย์ เขียวอื่มกรรมการผู้จัดการลูกหนี้ปล่อย สินเชื่อไปเกินหลักทรัพย์ที่ให้ไว้แก่ลูกหนี้จำนวน 80,000,000 บาท ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้นายวิบูลย์จัดการแก้ไข นายวิบูลย์ไม่สามารถแก้ไขได้จึงได้หลบหนีออกนอกประเทศโดยยักยอกเงินของลูกหนี้ไป10,000,000 บาท ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงให้เจ้าหนี้ทั้งสี่เข้าช่วยเหลือให้ลูกหนี้กู้เงินรายละ 5,000,000 บาท รวม20,000,000 บาท ลูกหนี้ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ทั้งสี่ไว้รวม 29 ฉบับ และเจ้าหนี้ผู้โต้แย้งกับพวกนำที่ดิน 14 โฉนดจำนองเป็นประกันเงินกู้ต่อมาผู้จำนองโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งสี่แล้วบางส่วน ลูกหนี้คงเป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ 125 เป็นเงิน 736,643.83 บาท เจ้าหนี้รายที่ 128 เป็นเงิน400,000 บาท เจ้าหนี้รายที่ 129 เป็นเงินที่ 511,643.83 บาท
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า เจ้าหนี้ทั้งสามผู้ฎีกาให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินโดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์การที่ลูกหนี้ประกอบธุรกิจตามที่ได้รับอนุญาตแล้วเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินถึงขนาดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่คอยควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจของลูกหนี้และสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์ต้องขอร้องให้เจ้าหนี้ทั้งสามรายเข้าไปช่วยเหลือ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่าในขณะนั้นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและขาดความเชื่อถือจากสถาบันการเงินอื่นจึงไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆโดยลำพังตนเองเพื่อมาพยุงฐานะของตนได้ การที่เจ้าหนี้ทั้งสามให้ลูกหนี้กู้ยืมเงิน แม้จะเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามที่ได้รับการขอร้อง แต่ก็เป็นการยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ตามความในมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนในข้อที่เจ้าหนี้รายที่ 125 ฎีกาว่า การที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามอุทธรณ์นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จะหยิบยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ได้หรือไม่ ย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อีกทั้งหนี้รายใดจะต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือไม่ ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าหนี้ผู้โต้แย้งจึงชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share