คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6898/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 แบ่งหุ้นในบริษัทให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคล มีการยื่นคำขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นของบริษัท คณะบุคคลนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 นำเครดิตภาษีจากเงินปันผลรวมคำนวณภาษี และมีภาษีที่ชำระเกินจึงขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเพราะเห็นว่าเงินปันผลที่คณะบุคคลได้รับถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละบุคคลผู้ร่วมในคณะบุคคล
โจทก์ทั้งสามมีเพียงสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลที่จัดทำขึ้นเอง ซึ่งกำหนดให้โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการแทนคณะบุคคล โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้นมาเป็นชื่อของตน แม้บริษัทจะได้ลงชื่อคณะบุคคลในทะเบียนผู้ถือหุ้นก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทตามกฎหมาย เนื่องจากคณะบุคคลมิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอันอาจเป็นผู้ใช้สิทธิถือหุ้นแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นบริษัท ซึ่งความข้อนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า เงินปันผลที่ได้มาไม่มีการแบ่งปันให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยเก็บสะสมไว้เป็นเงินสำหรับการศึกษาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าเงินปันผลอันเป็นดอกผลของหุ้นมิได้ตกแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อย่างแท้จริง แต่เป็นเงินที่อยู่ในความควบคุมและจัดการของโจทก์ที่ 1 พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะบุคคลเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 ต้องการที่จะจัดตั้งหน่วยภาษีขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเท่านั้น หุ้นของบริษัทยังคงเป็นของโจทก์ที่ 1 เช่นเดิม ดังนั้น คณะบุคคลที่โจทก์ทั้งสามจัดตั้งขึ้นจึงไม่ใช่คณะบุคคลตามมาตรา 56 วรรคสอง อันจะมีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 467,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ แก่โจทก์ทั้งสามหรือคณะบุคคลเจริญมิตร
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลเจริญมิตร เพื่อเข้าถือหุ้นในบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด ต่อมาคณะบุคคลเจริญมิตรเข้าถือหุ้นในบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด จำนวน 720,354 หุ้น หุ้นละ 100 บาท คณะบุคคลเจริญมิตรได้รับเงินปันผลจากบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด จำนวน 5,129,978 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 512,997.80 บาท หลังจากนั้นคณะบุคคลเจริญมิตรยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 โดยนำเครดิตภาษีจากเงินปันผล 2,198,562 บาท มารวมคำนวณภาษี เมื่อนำเครดิตภาษีที่คำนวณได้และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มาหักออกจากภาษีที่ต้องเสียแล้ว คงมีภาษีที่โจทก์ชำระเกิน 467,200 บาท จึงขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินจำนวนดังกล่าว จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร คณะบุคคลเจริญมิตรยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่คืนเงิน จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า เงินปันผลที่คณะบุคคลเจริญมิตรได้รับจากบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด ต้องถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละบุคคลผู้ร่วมในคณะบุคคลนั้น คณะบุคคลจึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีเพียงประการเดียวว่า คณะบุคคลเจริญมิตรที่โจทก์ทั้งสามจัดตั้งขึ้นมีฐานะเป็นคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 แบ่งหุ้นในบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด ให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในหุ้นบริษัทและการจัดตั้งคณะบุคคลได้ทำสัญญาเป็นหลักฐานและมีการยื่นคำขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นจึงเข้าเงื่อนไขเป็นคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล นั้น โจทก์มีนายกรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายแสงชัย ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ประกอบกิจการใช้ชื่อว่า คณะบุคคลเจริญมิตร จัดตั้งขึ้นโดยสัญญาตกลงจัดตั้งคณะบุคคล มีวัตถุประสงค์ถือหุ้นในบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด โดยแต่งตั้งให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนคณะบุคคลและได้รับบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเลขที่ 2-7809-4053-8 จากจำเลย คณะบุคคลเจริญมิตรถือหุ้นในบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด จำนวน 720,354 หุ้น หุ้นละ 100 บาท ต่อมามีเงินได้จากเงินปันผลของบริษัท ส่วนจำเลยมีนายฉัตรชัย เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ทั้งสามแล้วมีความเห็นว่า การประกอบกิจการของคณะบุคคลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลเอง มิใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและต้องไม่มีความมุ่งหมายในทางภาษี เช่น เพื่อกระจายฐานภาษี หรือขอคืนภาษี กรณีที่คณะบุคคลจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้อง โดยแสดงรายละเอียดว่าในการถือหุ้นเดียวหรือหลายหุ้นร่วมกันนั้นประกอบด้วยบุคคลใดร่วมถือหุ้นบ้างและกรณีที่ร่วมกันถือหุ้นหลายหุ้นต้องระบุจำนวนหุ้นที่แต่ละบุคคลถือ รวมทั้งระบุว่าผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ร่วมกันถือหุ้นนั้น ต้องจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นและเงินปันผลที่ได้รับถือเป็นการรับแทนผู้ร่วมถือหุ้นทุกคน ดังนั้น เงินปันผลที่ได้รับในกรณีดังกล่าวจึงต้องถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละบุคคลผู้ร่วมในคณะบุคคลนั้น คณะบุคคลไม่มีสิทธิขอคืนภาษี การแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสามจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์ทั้งสามมีเพียงสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลเจริญมิตรที่โจทก์ทั้งสามจัดทำขึ้นเอง แต่โจทก์ทั้งสามมิได้มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงด้วยตนเองว่าโจทก์ที่ 1 จัดสรรหุ้นให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามฟ้องจริง ตามคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามและที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ที่ 1 ก็คงเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนได้รับหุ้นจากโจทก์ที่ 1 เป็นจำนวนหุ้นเท่าใดและตั้งแต่เมื่อใด พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักน้อยไม่พอฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นบริษัท ซึ่งความข้อนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนายแสงชัยพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความตอบคำถามค้านว่า เงินปันผลที่ได้มาไม่มีการแบ่งปันให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยเก็บสะสมไว้เป็นเงินสำหรับการศึกษาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าเงินปันผลมิได้จัดสรรแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อย่างแท้จริง แต่เป็นเงินที่อยู่ในความควบคุมและจัดการของโจทก์ที่ 1 ทั้งหลังจากคณะบุคคลเจริญมิตรมีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการร่วมกันอย่างใดที่จะเห็นได้ว่าเป็นการตั้งคณะบุคคลกันอย่างแท้จริง พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะบุคคลเจริญมิตรด้วยเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 ต้องการที่จะจัดตั้งหน่วยภาษีขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าหุ้นในบริษัทเวทอะกริเทค จำกัด จำนวน 720,354 หุ้น ยังคงเป็นของโจทก์ที่ 1 เช่นเดิม ดังนั้น คณะบุคคลเจริญมิตรตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่าจัดตั้งขึ้น จึงมิใช่คณะบุคคลตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร อันจะขอคืนเงินภาษีอากรได้ การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรแก่ผู้ขอคืนในนามคณะบุคคลเจริญมิตรจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share