แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่1ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เองส่วนปัญหาที่ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสมาชิกกลุ่มสวัสดิการซึ่งสมาชิกของกลุ่มต่างเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นแม้จะรับฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นกรณีที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการดำเนินการของกลุ่มสวัสดิการเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์พ.ศ.2505นั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มสวัสดิการแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่จำเลยที่1กู้ยืมไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2ค้ำประกันไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ สำหรับจำเลยที่1นั้นปรากฏตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.17.2และจ.3ว่าจำเลยที่1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จำนวนแน่นอนเฉพาะสัญญากู้เอกสารหมายจ.1เท่านั้นคืออัตราชั่งละ1บาทต่อเดือนหรือร้อยละ15ต่อปีส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ระบุเพียงว่ายอมให้ดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จไม่ชัดแจ้งแน่นอนว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราเท่าใดต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ7.5ต่อปีสำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา7เท่านั้น ส่วนจำเลยที่2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่1เฉพาะตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.1และจ.2เท่านั้นส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.3จำเลยที่2ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.3ด้วยจึงไม่ถูกต้องทั้งปรากฏด้วยว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.4และจ.5มีข้อความเพียงว่าถ้าจำเลยที่1ไม่ชำระหนี้จำเลยที่2จะเป็นผู้ชำระแทนจำเลยที่2ไม่ได้ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วยจึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2526 วันที่ 31 ตุลาคม2526 และวันที่ 30 เมษายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 30,000 บาท 7,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับรวม 3 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 40,000 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี การกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว มีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินกู้ให้โจทก์จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทน ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้อง นับแต่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 ปี 8 เดือน แต่โจทก์ขอคิดเพียง 5 ปี คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 30,000 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน70,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน70,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี 2526 จำเลยทั้งสองกับเพื่อนครูรวม 7 โรงเรียนได้ตั้งกลุ่มสวัสดิการการเงินขึ้นชื่อว่าสวัสดิการการเงินกลุ่มดีชัยพลพัฒนา มีสถานที่ทำการที่โรงเรียนบ้านชะแม อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีสมาชิก 78 คนกลุ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกฝากและกู้ยืมเงิน โดยสมาชิกต้องเป็นผู้ถือหุ้นของกลุ่ม มูลค่าหุ้นละ 100 บาท สมาชิกจะถือหุ้นคนละกี่หุ้นก็ได้ และมีสิทธิกู้ยืมเงินจากกลุ่มได้หุ้นละ10,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ2 ต่อเดือน โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจำเลยที่ 1 เคยกู้ยืมเงินจากกลุ่มมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันไว้ต่อกลุ่มซึ่งมีโจทก์ในฐานะประธานกรรมการของกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการแทนกลุ่มต่อมากลุ่มดังกล่าวได้เลิกไป โจทก์นำเอกสารท้ายฟ้องมาฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก มีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์หรือไม่ เพียงใดซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.5 แก่โจทก์ เพราะเงินที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ไม่ใช่เงินของโจทก์ แต่เป็นเงินของกลุ่มสวัสดิการการเงินกลุ่มดีชัยพลพัฒนาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัวนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.3 กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5แต่เงินที่โจทก์นำมาให้จำเลยที่ 1 กู้ดังกล่าว เป็นเงินของกลุ่มสวัสดิการการเงินกลุ่มดีชัยพลพัฒนา ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้้งสองต่างเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยมีโจทก์เป็นประธานกรรมการของกลุ่มดังนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.3 ไปจากโจทก์ และจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 กับโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เองส่วนปัญหาที่ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสมาชิกกลุ่มสวัสดิการการเงินกลุ่มดีชัยพลพัฒนา ซึ่งสมาชิกของกลุ่มต่างเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นแม้จะรับฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นกรณีที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะว่ากล่าวเอากับโจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการดำเนินการของกลุ่มสวัสดิการการเงินกลุ่มดีชัยพลพัฒนาเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 4, 5 และ 8 นั้นเห็นว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มสวัสดิการการเงินกลุ่มดีชัยพลพัฒนาแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มแต่อย่างใด ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงใด สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นปรากฏตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.1 จ.2 และ จ.3 ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จำนวนแน่นอนเฉพาะสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เท่านั้นคืออัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ระบุเพียงว่ายอมให้ดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จไม่ชัดแจ้งแน่นอนว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 เท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.3จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3ด้วย จึงไม่ถูกต้อง ทั้งปรากฏด้วยว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 มีข้อความเพียงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทน จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 ปีและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องทั้งหมดต้องไม่เกิน 30,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีสำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทนตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นเงินจำนวน 37,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3