คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายลักษณมรฎก บทที่ 12 บัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในภาคญาติ แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณมรฎก ร.ศ.121 บัญญัติให้ญาติของผู้มรณภาพตามที่กำหนดไว้เป็นชั้น ๆ ได้รับมรดกในภาคญาติ แต่สำหรับบุตรบุญธรรมไม่ได้กำหนดไว้ บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่านับแต่ ร.ศ. 121 เป็นต้นมา จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5และ 6 แล้ว บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติมาตรา 1586 และ 1627 ก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนตามมาตรา 1585 เท่านั้น มิได้รวมถึงบุตรบุยธรรมตามกฎหมายเก่าซึ่งใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ด้วย เพราะพระราชบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ. 2477 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทงกระเทือนถึง(2) การรับบุตรบุญธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแต่การนั้น ๆ ” ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมมีอยู่ตามกฎหมายเก่าอย่างไร เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับแล้วก็คงมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้น บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่าและมิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเหมแก้วประดิษฐ์ ตั้งแต่โจทก์เกิดมาเมื่อ พ.ศ. 2463 จำเลยเป็นน้องของนางเหมนางเหมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2515 โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนางเหมคือที่ดินโฉนดที่ 11847 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์ไปยื่นขอรับมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยไปคัดค้าน ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านดังกล่าว และพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิรับมรดกของนางเหมในฐานะเป็นทายาท ไม่ให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้อง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเหม แก้วประดิษฐ์ และแม้จะฟังว่าเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะรับมรดกของนางเหม จำเลยเป็นทายาทนางเหมในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 11847 คืนให้จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนางเหมโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกเกิด โฉนดที่ดินเลขที่ 11847 นี้ นางเหมได้มอบให้แก่โจทก์ไว้นานแล้ว เพราะมีเจตนายกให้โจทก์ แต่ยังมิได้โอนแก้ไขทางทะเบียนจำเลยไม่มีสิทธิเรียกไป

วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความรับกันในเรื่องทรัพย์มรดก และโจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตั้งแต่ พ.ศ. 2463 และเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เจ้ามรดกก็มิได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม จำเลยเป็นน้องของเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีทายาทอื่น โฉนดที่พิพาทอยู่ที่โจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีเป็นประเด็นหารือบทไม่จำต้องสืบพยาน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามกฎหมายเก่า บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบโฉนดเลขที่ 11847 ให้จำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ว่า กฎหมายลักษณมรฎก บทที่ 12บัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในภาคญาติแต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณมรฎก ร.ศ. 121 บัญญัติให้ญาติของผู้มรณภาพตามที่กำหนดไว้เป็นชั้น ๆ ในพระราชบัญญัตินั้นได้รับมรดกในภาคญาติ แต่สำหรับบุตรบุญธรรมไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น ตามกฎหมายเก่านับแต่ ร.ศ. 121 เป็นต้นมา บุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 แล้ว แม้จะมีมาตรา 1586 บัญญัติว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ” และมาตรา 1627 บัญญัติไว้ด้วยว่า “บุตรบุญธรรม ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้” ก็ตาม บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1585 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าซึ่งใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ด้วย เพราะพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึง (2) การรับบุตรบุญธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแต่การนั้น ๆ” ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมมีอยู่ตามกฎหมายเก่าอย่างไร เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับแล้ว ก็คงมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่า และมิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว

พิพากษายืน

Share