คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอหย่าและแบ่งสินสมรส ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปลอม และใช้เอกสารปลอมต่อศาลอาญาว่า โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินตามที่เสนอต่อศาลในคดีอาญาโดยระบุว่าจะนำบันทึกข้อตกลงไปเสนอต่อศาลฎีกา แล้วโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา ศาลอาญาอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จากนั้นโจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนหย่าพร้อมนำบันทึกที่ทำต่อศาลอาญาไปแสดงว่ามีการตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยต่างยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้ว พร้อมยื่นข้อตกลงที่ทำต่อกันที่ศาลอาญาแนบท้ายคำแถลง ดังนี้ถือได้ว่าคู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้ถอนฟ้องในชั้นฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง มาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม) ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้แบ่งสินสมรสแก่โจทก์ 82,538,642.38 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2531 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายอมรเทพหรืออาษา และนางสาวอณิชา เกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2527 และวันที่ 8 ตุลาคม 2529 โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัท พี.ดี.พี. 2000 จำกัด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 วันที่ 24 เมษายน 2556 โจทก์ จำเลยและบุตรสาวมีเหตุทะเลาะวิวาทกันแล้วโจทก์และบุตรสาวก็ออกจากบ้านไป ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น (เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558) โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมต่อศาลอาญา ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ขณะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยตกลงกันในคดีอาญาข้างต้นระงับข้อพิพาทและการจัดการสินสมรสโดยในสัญญาข้อ 11 โจทก์จำเลยจะนำบันทึกไปเสนอต่อศาลฎีกาในคดีนี้เพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษาตามยอม และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา ศาลอาญาอนุญาตและจำหน่ายคดีอาญาออกจากสารบบความ ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2560 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าและนำบันทึกข้อตกลงการหย่าในคดีอาญาไปให้นายทะเบียนบันทึกท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุหย่าตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันแล้ว คดีไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป จึงให้จำหน่ายคดีในส่วนนี้และคำขอบังคับให้หย่า
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันแล้วตามบันทึกข้อตกลงที่เสนอต่อศาลอาญาและนำไปแนบท้ายบันทึกการหย่าในเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งโจทก์และจำเลยต่างนำมายื่นต่อศาลฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษาตามยอมตามที่สัญญาข้อ 11 ระบุไว้ดังข้อเท็จจริงที่ฟังยุติข้างต้น เช่นนี้ถือได้ว่าคู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนฟ้อง ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกข้อตกลง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง และมาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม)
อนึ่ง คดีนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชนะคดี แต่กลับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุสมควรหรือจำเลยไม่สุจริตในการดำเนินคดีอย่างไรตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ทั้งศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ให้โจทก์และจำเลยรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนที่ได้เสียไปก่อน นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่โจทก์บางส่วน ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีในส่วนคำขอบังคับที่ให้โจทก์จำเลยหย่ากันและพิพากษาให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินกันตามบันทึกข้อตกลงในคดีอาญาและตามบันทึกแนบท้ายทะเบียนหย่าที่คู่ความเสนอต่อศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ 200,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share