คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว
เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล… (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่
แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิด (วันที่ 9 มกราคม 2544) จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท และเดือนละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนที่ขาดอายุความและกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฐานานุรูปของจำเลย โดยคำนึงถึงบุพการีและบุตรที่อยู่ในความอุปการะของจำเลยประกอบด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กชาย ก. โจทก์เป็นบุตรของจำเลย และให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์นับแต่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเดือนละ 8,000 บาท เป็นระยะเวลา 14 ปี 4 เดือน รวมเป็นเงิน 1,370,000 บาท และหลังฟ้องจนโจทก์จบมัธยมศึกษาตอนปลายเดือนละ 12,000 บาท และหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลายจนบรรลุนิติภาวะเดือนละ 15,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องแก่โจทก์ 685,000 บาท และหลังจากวันฟ้องเป็นต้นไปสองช่วง ช่วงแรกจนโจทก์จบมัธยมศึกษาตอนปลายในอัตราเดือนละ 6,000 บาท ช่วงที่สองอัตราเดือนละ 7,500 บาท จนกระทั่งโจทก์บรรลุนิติภาวะ ให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ในศาลชั้นต้นในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุตรของนางสาวนภาพร กับจำเลย โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 ขณะที่ฟ้องคดีนี้โจทก์มีอายุ 14 ปีเศษ นางสาวนภาพร มารดาโจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างตำแหน่งพนักงานการเงินห้างสรรพสินค้าแม็คโคร มีรายได้เดือนละ 18,400 บาท จำเลยประกอบอาชีพค้าขายอาหารประเภทเป็ดย่าง และรับจัดโต๊ะจีนตามงานเลี้ยงต่าง ๆ
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์มิได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าวเพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่าคดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยก็มิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์แต่อย่างใด ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ข้อนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล… (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาปี 2550 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหลักการข้างต้น นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์มานั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยเพราะการจะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบทบัญญัติมาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้ที่มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควรแม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องชำระตามศาลชั้นต้นกำหนดให้จึงเหมาะสมแล้ว ภาระส่วนตัวต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างว่าต้องเลี้ยงดูครอบครัวเดิมและบิดามารดาซึ่งชราภาพ ไม่เป็นข้ออ้างที่ปัดหน้าที่และความรับผิดที่จำเลยต้องมีตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า “ในการยื่นฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาล และค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยอุทธรณ์และฎีกาเฉพาะประเด็นค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้นการที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลทั้งชั้นอุทธรณ์และฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กลับไปบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับกับคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่จำเลย

Share