คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15 มาตรา 340 ตรี นั้น ต้องได้ความว่าได้ชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด ฯลฯไม่ใช่ชิงรถจักรยานยนต์พาไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องใจความว่า จำเลยมีมีดพกปลายแหลมและเหล็กขูดชาฟท์เป็นอาวุธติดตัวร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ 1 คันของห้างหุ้นส่วนจำกัด สุเทพยานยนต์ซึ่งอยู่ในความดูแลครอบครองรักษาของนายผวน โสวสด ไปโดยเจตนาทุจริต โดยจำเลยได้ร่วมกันใช้มีดพกปลายแหลมและเหล็กขูดชาฟท์ทำร้ายร่างกายนายผวนหลายทีโดยเจตนาฆ่า และเพื่อให้เป็นความสะดวกในการลักเอาทรัพย์ พาเอาทรัพย์ และเพื่อยึดถือเอาทรัพย์ดังกล่าวนั้นไว้ ซึ่งจำเลยได้ร่วมกันลงมือฆ่านายผวนไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลสำเร็จ นายผวนไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย แต่เป็นเหตุให้นายผวนได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 288, 289, 80, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2, 14, 15 และให้ริบมีดพกปลายแหลมของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรค 5, 297, 83, 90 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 แต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรค 5, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ข้อ 14 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยคนละ 15 ปี ลดโทษตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน มีดของกลางริบ คำขออื่น ๆ ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่โจทก์ฎีกาได้จะต้องได้ความว่าจำเลยได้ชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมกล่าวคือ ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นผู้นำเอายานพาหนะมาใช้ในการกระทำผิด โดยผู้กระทำผิดเป็นฝ่ายนำยานพาหนะมาใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรมชิงทรัพย์นั้นเอง หรือมิฉะนั้นก็ได้ใช้ยานพาหนะที่นำมานั้นพาทรัพย์ที่ตนชิงมาได้นั้นไป หรือได้ใช้ยานพาหนะนั้นพาตนให้พ้นการจับกุมหาใช่ว่าหากจำเลยชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์และพารถจักรยานยนต์นั้นไปแล้วจะเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะพาทรัพย์นั้นไปตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เพราะความที่ว่า”หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 340 ตรีนั้น ต้องอ่านประกอบกับความที่ว่า “โดยใช้ยานพาหนะเพื่อ” ซึ่งเมื่ออ่านประกอบกันแล้วจะได้ความว่า ใช้ยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป หรือใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุม หาใช่ความแต่ละตอนเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกันดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายมาและข้อเท็จจริงที่ได้ความ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ซึ่งได้เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share