คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่1นั่งซ้อนท้ายศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโจทก์ที่1ได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายคดีถึงที่สุดแล้วข้อเท็จจริงคดีนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเพราะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่ออีกไม่ได้เมื่อจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ที่1เสียหายแก่ร่างกายจำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนการที่ผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้โจทก์ที่1นั่งซ้อนท้ายไปจะประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่หาทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไม่ ค่าเสียหายที่โจทก์ที่2ต้องส่งเสียเลี้ยงดูและให้การศึกษาเล่าเรียนแก่โจทก์ที่1ซ้ำอีก1ปีจำนวนเงิน40,000บาทนั้นโจทก์ที่1ขาดเรียนเพราะต้องรักษาบาดแผลจนต้องสมัครใจเรียนซ้ำชั้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยค่าเสียหายส่วนนี้จำเลยจึงต้องรับผิด แม้โจทก์ที่2เป็นข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโจทก์ที่1ซึ่งเป็นบุตรก็ตามสิทธิดังกล่าวก็เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดได้อีก ค่าผ่าตัดเอาเหล็กดามที่ออกแม้จะเป็นค่าเสียหายในอนาคตแต่ก็เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคตที่แน่นอนโจทก์ที่1จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2533เวลา 17.15 นาฬิกา จำเลยได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-7964ลำปาง ไปตามถนนด้านข้าง บริษัทการบินไทย จำกัด มุ่งหน้าตัดข้ามถนนพระปกเกล้าเพื่อเข้าถนนเวียงแก้ว ด้วยความประมาทเลินเล่อเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางร่วมทางแยกมีรถแล่นผ่านสัญจรไปมามาก จำเลยกลับขับรถยนต์ด้วยความเร็วผ่านสี่แยกดังกล่าวไปทันทีโดยไม่ยอมชะลอความเร็วของรถยนต์และไม่ยอมหยุดรถยนต์ดูทางข้างหน้าให้ปลอดภัยเสียก่อน เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับมาพุ่งเข้าชนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งนายภูมิรัตน์ รุ่งรัศมี เป็นผู้ขับมาตามถนนพระปกเกล้าจากวิทยาลัยอาชีวศึกษามุ่งหน้าไปทางแยกช้างเผือกทั้งนี้โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้นั่งซ้อนท้าย ทำให้โจทก์ที่ 1ได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุแล้วเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยดำเนินคดีและพนักงานอัยการประจำศาลแขวงเชียงใหม่ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2416/2533 ของศาลแขวงเชียงใหม่ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 เป็นนักบัลเล่ต์ ที่มีฝีมือในการเต้นอย่างดีโดยเรียนมาตั้งแต่ปี 2528 ที่สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ. เสาหินและสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนา เคยเต้นแสดงในงานต่าง ๆเป็นจำนวนมาก เมื่อโจทก์ที่ 1 ต้องขาหักทำให้ไม่สามารถเต้นบัลเล่ต์ได้อีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน100,000 บาท ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อต้องได้รับบาดเจ็บขาหักและต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นเวลานานทั้งต้องไปให้แพทย์ตรวจรักษาเป็นประจำเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ต้องขาดเรียนหลายวันจนกระทั่งเวลาเรียนไม่พอทำให้ไม่ได้สอบ และต้องเรียนซ้ำชั้นอีก 1 ปี และโจทก์ที่ 2 ต้องส่งเสียเลี้ยงดูและให้การศึกษาต้องเสียค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายซ้ำอีก 1 ปี ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายในส่วนนี้จำนวน50,000 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยผ่าตัดดามเหล็กกระดูกขาขวาท่อนล่างที่หัก ต้องเข้าเผือกและนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและที่บ้านเป็นเวลานานจนไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติเกินกว่า 20 วัน ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่ายา และเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 60,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังจะต้องไปผ่าตัดเอาเหล็กออกจากขาขวาภายใน 2 ปี ซึ่งจะต้องใช้เงินในการผ่าตัดจำนวน 10,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 220,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 220,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 220,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความไม่ประมาทเลินเล่อแต่นายภูมิรัตน์ได้ขับรถจักรยานยนต์มาโดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้นั่งซ้อนท้ายด้วยความเร็วสูง ไม่ยอมชะลอความเร็วรถจักรยานยนต์ของตนและไม่ยอมหยุดรถให้รถยนต์ของจำเลยไปก่อน เมื่อเห็นรถยนต์ของจำเลยข้ามถนนพระปกเกล้ามาแล้วซึ่งจะเข้าถนนเวียงแก้วนายภูมิรัตน์กลับขับรถจักรยานยนต์ตัดหน้ารถยนต์ของจำเลยซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ที่จำเลยจะขับรถยนต์หลบทัน ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน เมื่อนายภูมิรัตน์เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้นั่งซ้อนท้ายโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกเอาจากจำเลยก็เกินความเป็นจริง โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่มีอาชีพเป็นนักบัลเล่ต์ และการที่โจทก์ที่ 1 เรียนซ้ำชั้นอีก 1 ปี เป็นความประสงค์ของโจทก์ทั้งสองเอง โจทก์ที่ 2 เสียค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 15,000 บาทอีกทั้งโจทก์ที่ 2 เป็นข้าราชการบำนาญมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลบุตรได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 164,982 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยและอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันนั้น เท่ากับจำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเห็นว่า การเฉี่ยวชนกันครั้งนี้ศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย คดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงคดีนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเพราะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่ออีกไม่ได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นายภูมิรัตน์ผู้ขับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 2 มีส่วนขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหายแก่ร่างกาย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว การที่นายภูมิรัตน์ผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้โจทก์ที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปจะประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่หาทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ที่ไม่สามารถเต้นบัลเล่ต์ ต่อไปอีก ทำให้ขาดรายได้เป็นเงิน 80,000 บาทเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มิได้รับความเสียหายจริง นั้นเห็นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นนักเรียนมิใช่นักเต้นบัลเล่ต์ อาชีพ แม้โจทก์ที่ 1 จะเคยมีรายได้เป็นเงินและสิ่งของจากการเต้นบัลเล่ต์ในงานต่าง ๆ เช่น งานประกวดนางสาวเชียงใหม่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง ก็ตาม แต่ก็เป็นการเต้นแบบสมัครเล่น มิใช่เป็นอาชีพและนาน ๆ ครั้ง ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองบรรยายคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ขาหักไม่สามารถเต้นบัลเล่อต์ ได้ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ 100,000 บาท และศาลล่างทั้งสองกำหนดให้80,000 บาท จึงเป็นค่าเสียหายที่มากเกินความจริง เพราะการที่โจทก์ที่ 1 ขาหักไม่สามารถเต้นบัลเล่ต์ ได้นั้น เมื่อรักษาหายแล้วจะกลับมาเต้นได้อีกหรือไม่ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ จึงต้องฟังว่าความเสียหายตามคำฟ้องโจทก์เป็นความเสียหายชั่วคราว ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมตามความจริง โดยกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายที่ไม่สามารถเต้นบัลเล่ต์ ได้เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท
ที่จำเลยฎีกาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 ต้องส่งเสียเลี้ยงดูและให้การศึกษาเล่าเรียนแก่โจทก์ที่ 1 ซ้ำอีก 1 ปีจำนวนเงิน 40,000 บาท ไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรง นั้น เห็นว่าการที่โจทก์ที่ 1 ขาดเรียน จะต้องรักษาบาดแผลจนต้องสมัครใจเรียนซ้ำชั้นนั้น เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย ค่าเสียหายส่วนนี้จำเลยจึงต้องรับผิด
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ได้เบิกค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1จากทางราชการแล้ว โจทก์ที่ 2 ไม่เสียหายในส่วนนี้ เห็นว่าแม้โจทก์ที่ 2 เป็นข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดได้อีก ส่วนค่าผ่าตัดเอาเหล็กที่ดามออกจำนวน 10,000 บาท นั้น แม้จะเป็นค่าเสียหายในอนาคต แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคตที่แน่นอน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ที่เต้นบัลเล่ต์ ไม่ได้จำนวนเงิน 30,000 บาท และค่าที่ต้องผ่าตัดนำเหล็กดามออกจำนวนเงิน 10,000 บาท รวมจำนวนเงิน 40,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 จำนวนเงิน 34,982 บาทค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 1 ต้องเล่าเรียนซ้ำ 1 ปีจำนวนเงิน 40,000 บาท รวมจำนวนเงิน 74,982 บาท แก่โจทก์ที่ 2พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะได้รับชำระเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share