คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิม จ. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จ. ตาย ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ จ. ครึ่งหนึ่งและตกเป็นของ ส. สามี จ. ครึ่งหนึ่ง ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาลได้โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างจำเลยกับ ส. สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งมีสิทธิในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์จากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532, 1533, 1625, 1626และ 1635.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายสุรินทร์และนางจรินทร์ปี ๒๕๒๔ นางจรินทร์ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อมานายสุรินทร์ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางจรินทร์ ตามคำสั่งศาลจังหวัดสงขลานางจรินทร์กับนายสุรินทร์มีที่ดินสินสมรส ๔ แปลง ตามโฉนดเลขที่ ๑๐๘๗, ๑๐๙๙, ๑๑๐๐ และ ๑๑๐๑มีชื่อนางจรินทร์ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อนางจรินทร์ตายที่ดินครึ่งหนึ่งจึงเป็นมรดกตกทอดมาเป็นของโจทก์ทั้งสองและนายสุรินทร์คนละส่วนเท่ากัน ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองจึงมี ๑ ใน ๓ ของจำนวนทั้งหมดนายสุรินทร์ดูแลที่ดินส่วนของโจทก์ตลอดมาในฐานะเป็นบิดาและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางจรินทร์ผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นภริยาน้อยของนายสุรินทร์ได้ช่วยนายสุรินทร์ดูแลที่ดินทั้ง ๔ แปลงแทนโจทก์ด้วยเมื่อปี ๒๕๒๗ นายสุรินทร์ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงทราบว่านายสุรินทร์ได้โอนที่ดินทั้ง ๔ แปลงให้จำเลยไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๒๕โดยระบุว่าซื้อขายกันโดยที่โจทก์ทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอม และมิได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทั้ง ๆ ที่โจทก์ที่ ๒ ยังเป็นผู้เยาว์อายุได้๑๙ ปี ๒ เดือนในขณะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต แสดงเจตนาลวงด้วยการสมรู้ร่วมคิดโดยไม่ได้ซื้อขายกันจริง เพื่อฉ้อโกงโจทก์ นิติกรรมการโอนดังกล่าวจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินตามโฉนดที่ ๑๐๘๗, ๑๐๙๙, ๑๑๐๐ และ ๑๑๐๑ ให้โจทก์แปลงละ๑ ใน ๓ ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองจำนวน ๑ ใน ๓ ส่วน
จำเลยให้การว่า นายสุรินทร์บิดาของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจรินทร์ได้โอนขายที่ดินทั้ง ๔ แปลงให้จำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ ในราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยกระทำไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ ๑๐๘๗, ๑๐๙๙, ๑๑๐๐ และ ๑๑๐๑ ให้โจทก์ทั้งสองแปลงละ ๑ใน ๓ ส่วนหากไม่สามารถแบ่งได้ให้ขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองจำนวน ๑ ใน ๓ ส่วน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๔๐๐บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์พยานหลักฐาน โจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายสุรินทร์และนางจรินทร์ แซ่กอ หรือโรจน์วารีรัชต์นางจรินทร์ประกอบธุรกิจแพปลา มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พิพาท ๔ แปลง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ตามโฉนดเลขที่ ๑๐๘๗,๑๐๙๙, ๑๑๐๐ และ ๑๑๐๑ เอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๗ เมื่อปี ๒๕๒๔นางจรินทร์ตาย ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมรดกของนางจรินทร์ต่อมานายสุรินทร์สามีในฐานะผู้จัดการมรดกนางจรินทร์ตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๗๖/๒๕๒๔ ของศาลชั้นต้น ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.๑ คดีมีปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้องคืนโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ได้ความจากโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ และทราบว่านายสุรินทร์ได้จำเลยเป็นภริยาโดยไม่จดทะเบียนในปีดังกล่าวปกติจำเลยมีฐานะยากจนไม่มีอาชีพ จำเลยเคยพูดหลังนางจรินทร์ตายว่าจะดูแลทรัพย์สมบัติให้โจทก์ทั้งสอง นายสุรินทร์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยโดยโจทก์ทั้งสองไม่ทราบและไม่เห็นด้วย นางอ่วม สุวรรณพรหมเคยขอซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุรินทร์เมื่อ ปี ๒๕๒๖ ในราคา ๓๕๐,๐๐๐บาท นายสุรินทร์บอกปฏิเสธไม่ขายอ้างว่าเป็นของบุตรโจทก์มีนายสำราญเตียงพานิช และนางอ่วม เป็นพยานเบิกความสนับสนุนและยืนยันว่าต่างเคยรู้จักบิดามารดาโจทก์ทั้งสองมาก่อน กล่าวคือ นายสำราญเคยเฝ้าบ้านและดูแลทรัพย์สินให้นางจรินทร์ ส่วนนางอ่วมก็เคยซื้อที่ดินแปลงอื่นจากนายสุรินทร์ และต่างไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยมาก่อน คำพยานโจทก์จึงน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นตัวจำเลยเบิกความรับว่าจำเลยรู้จักนายสุรินทร์ ต้นปี ๒๕๒๓ นายสุรินทร์แนะนำโจทก์ทั้งสองให้จำเลยรู้จักเมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๒๕ และอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยปลายปี ๒๕๒๕ จึงน่าเชื่อตามคำพยานโจทก์ว่านายสุรินทร์ได้จำเลยเป็นภริยาก่อนนายสุรินทร์ขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า นายสุรินทร์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเพราะการค้าตกต่ำ จำเลยจึงซื้อด้วยวาจา ๑๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยออกเงินเองจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท และเอาเงินจากนางระเบียบ พรหมเดชะมารดาจำเลยจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และชำระเป็นเงินสดให้นายสุรินทร์ที่รถกระบะหน้าสำนักงานที่ดินนั้นไม่น่าเชื่อเพราะถ้าหากนายสุรินทร์ต้องการขายที่ดินพิพาทเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าตกต่ำจริงก็น่าจะขายแก่บุคคลอื่นจะได้ราคามากกว่าขายให้จำเลยซึ่งเป็นภริยาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เสนอราคาซื้อสูงเป็นพิเศษ ทั้งนางพรทิพย์ ลิ้มพงศ์ พี่สาวจำเลยก็เบิกความขัดกับคำเบิกความของจำเลยโดยนางพรทิพย์เบิกความว่าจำเลยเอาเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจากมารดาเพียง ๖๐,๐๐๐ ถึง ๗๐,๐๐๐ บาทมิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่จำเลยอ้าง นอกจากนั้นในตอนชำระเงินค่าที่ดินพิพาทจำเลยก็น่าจะชำระเงินกันที่สำนักงานที่ดินไม่ใช่ที่รถกระบะหน้าสำนักงานที่ดิน อนึ่ง จำเลยเองนำสืบรับว่า มารดาจำเลยมีรายได้จากการขายอาหารเพียงเดือนละ ๓,๐๐๐ ถึง ๔,๐๐๐ บาท จึงไม่น่าจะมีเงินเพียงพอที่จะแบ่งให้จำเลยนำไปซื้อที่ดินพิพาทได้ ประกอบกับนางอ่วมพยานโจทก์ เบิกความยืนยันว่าเคยขอซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุรินทร์เมื่อปี ๒๕๒๖ ในราคา ๓๕๐,๐๐๐ บาท นายสุรินทร์ แสดงตัวเป็นเจ้าของบอกปฏิเสธไม่ขายโดยบอกว่าที่ดินพิพาทเป็นของบุตรข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.๑ เกิดโดยการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างจำเลยกับนายสุรินทร์จึงเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทหนึ่งในสามส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๒, ๑๕๓๓, ๑๖๒๕, ๑๖๒๖และ ๑๖๓๕ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกติดตามเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิยึดถือไว้ดั่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share