คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4528/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเนื่องจากเห็นว่าคดีมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยอุทธรณ์ เพราะเป็นเรื่องระหว่างศาลและผู้ร้องเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องและสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า อนุญาตให้ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้รวบรวมถ้อยสำนวนส่งศาลฎีกา กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้โดยชอบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 144 ประกอบพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มีเจตนารมณ์ที่ให้อำนาจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมมีคำสั่งว่า ย. เสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเนื่องจากขาดคุณสมบัติไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นการยื่นคำร้องตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 50 ประกอบมาตรา 49 ซึ่งบัญญัติให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง มิได้บัญญัติให้ยื่นต่อศาลยุติธรรม จึงเป็นคำร้องขอที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2548 ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 2 และมีนายยอด ภู่เฉลิมตระกูล ยื่นใบสมัครในวันเดียวกัน แต่นายยอดถูกตัดสิทธิการรับสมัครเพราะไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 ต่อมานายยอดได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานีว่าได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แล้ว ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานีตั้งกรรมการทำการเปิดหีบบัตรเลือกตั้งและตรวจสอบต้นขั้วบัตรเลือกตั้งโดยไม่แสดงความบริสุทธิ์ใจไม่เชิญผู้ร้องหรือผู้มีความเป็นกลางเข้าสังเกตการณ์ในการเปิดหีบบัตรเลือกตั้งและตรวจสอบเอกสารในหีบบัตรเลือกตั้งและไม่เชิญกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้งไปพิสูจน์ลายมือชื่อของตนที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งอันเป็นต้นฉบับที่อ้างว่าเป็นของนายยอดแล้วกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานีสรุปความเห็นโดยไม่ฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมีมติให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควาย ประกาศให้นายยอดเป็นผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 1 ผู้ร้องมีพยานว่านายยอดไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในวันที่ 14 มีนาคม 2547 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนและเปิดหีบบัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหีบบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี หน่วยเลือกตั้งที่ 5 เขตเลือกตั้งที่ 2 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ทั้งสองหีบ และมีคำสั่งว่านายยอดเป็นผู้เสียสิทธิในการรับสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 37
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า นายยอด ภู่เฉลิมตระกูล เป็นผู้เสียสิทธิตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แต่ตามมาตรา 50 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน เพื่อให้ถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้นั้น และให้นำมาตรา 49 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่ง มาตรา 49 บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยโดยเร็วและให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น จะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าหากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ (ที่ถูกคือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด) บุคคลนั้นจะสามารถฟ้องร้องเพื่อให้ศาลกลับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้ เมื่อคณะกรรมการฯ เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่า นายยอดเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ จึงผูกพันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้องยื่นคำร้องเช่นนี้ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีนี้ผู้ร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายและรับสั่งอุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นต้องส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์ก่อนมีคำสั่งอนุญาต ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเนื่องจากเห็นว่าคดีมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยอุทธรณ์ เพราะเป็นเรื่องระหว่างศาลและผู้ร้องเท่านั้น ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องและสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า อนุญาตให้ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้โดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่าศาลยุติธรรมมีอำนาจรับคำร้องของผู้รอ้งไว้พิจารณาต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 144 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ประกอบกับมาตรา 285 วรรคเจ็ด บัญญัติว่า “คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งกฎหมายบัญญัติก็คือพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 49 และมาตรา 50 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ในการนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยโดยเร็ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดดำเนินการแทนได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบิกษาจากบทบัญญัติทั้งหมดดังกล่าวเป็นการชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มีเจตนารมณ์ที่ให้อำนาจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ฉะนั้น ที่ผู้ร้องในคดีนี้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่านายยอด ภู่เฉลิมตระกูล เสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควาย เนื่องจากขาดคุณสมบัติไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นการยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 50 ประกอบมาตรา 49 ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง มิได้บัญญัติให้ยื่นต่อศาลยุติธรรม ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share