คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 7 วรรคสอง ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ได้ฟ้องสิบเอก ช. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ดังนั้น อายุความฟ้องร้องจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีก่อนจึงขยายออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุดตามมาตรา 7 วรรคสอง การที่โจทก์ได้ฟ้องกองทหารพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 เป็นจำเลยในคดีก่อนด้วย แต่ศาลยกฟ้องเพราะผู้ถูกฟ้องดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มิใช่เหตุที่จะไม่ขยายอายุความฟ้องร้องจำเลยซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีแต่อย่างใด โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 114,094 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 93,326 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 93,326 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 กรกฎาคม 2544) ต้องไม่เกิน 20,768 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 สิบเอกชลธร จินดา เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุของจำเลยจากกองทหารพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยไปรับน้ำมันเชื้อเพลิง สิบเอกชลธรขับรถเสียหลักชนขอบทางด่วน ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายหลายรายการ วันที่ 2 มีนาคม 2542 โจทก์ได้ยื่นฟ้องสิบเอกชลธร และกองทหารพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 ต่อศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1481/2544 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า “…โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในผลแห่งละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทหารสังกัดกองทหารพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโจทก์อาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกองทหารพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งโดยกองทัพบกไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่เป็นนิติบุคคลจึงไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 …” คดีถึงที่สุดเพราะคู่ความมิได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์เคยฟ้องสิบเอกชลธรเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดและหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสังกัดอยู่ด้วย เมื่อโจทก์เลือกวิธีการฟ้องทั้งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐที่โจทก์ฟ้องในคดีดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้อง อันเป็นความผิดพลาดของโจทก์เอง มิใช่เป็นความสับสนที่เกิดจากระบบกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงไม่อาจยกเอาความผิดพลาดของโจทก์มาขอรับประโยชน์จากบทบัญญัติในมาตรา 7 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หรือในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีสิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่เรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐแล้วแต่กรณีเข้ามาเป็นคู่ความในคดี
ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวในวรรคสองให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด ตามมาตรา 7 วรรคสอง คือวันที่ 7 ตุลาคม 2544 การที่โจทก์ได้ฟ้องกองทหารพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 เป็นจำเลยในคดีก่อนด้วย แต่ศาลยกฟ้องเพราะผู้ถูกฟ้องดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มิใช่เหตุที่จะไม่ขยายอายุความฟ้องร้องจำเลยซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีแต่อย่างใด โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share