แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน วันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นประชาชน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งแปด ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละคนจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนใดเมื่อวันเดือนปีใดและหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนกี่ครั้งหรือได้เงินจากผู้เสียหายแต่ละรายครั้งละเท่าใด เงินที่ได้จากการหลอกลวงนำไปใช้เป็นค่าซื้อแพะกี่ตัว เป็นเงินเท่าใด เงินที่มิได้นำไปซื้อแพะมีเท่าใด หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับจากผู้เสียหายแต่ละรายเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแล้ว
แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่พูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่าจะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวยได้ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ความว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ว่า จะต้องใช้เงินซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยซึ่งจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยได้ ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่อย่างใด ศาลจึงมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางคืน วันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยโดยทุจริตหลวงลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ พูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่า จะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์แล้วจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถที่จะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดเกิดความร่ำรวยขึ้นได้ด้วยการหลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายทั้งแปดซึ่งเป็นประชาชนดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 100,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 11,800 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 100,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 34,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 10,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 10,000 บาท และจากผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 10,800 บาท รวมเป็นเงิน 296,600 บาท นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 296,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งแปด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 ให้จำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 296,600 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 11,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 34,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 และจำนวน 10,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 8 รวมเป็นเงิน 286,600 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์บรยายฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน วันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยทำอุบายทำพิธีกรรมนำโอ่งทำน้ำมนต์มาตั้งพร้อมจัดทำธูปเทียนสายสิญจน์ และหนังสือคัมภีร์อัลกุรอ่านมาวางไว้ ทำพิธีสวดมนต์ภาษาอิสลามทำน้ำมนต์แล้วนำมาพรมบนศีรษะให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปด และพูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่าจะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดเกิดความร่ำรวยได้ด้วยการหลอกลวงแสดงข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นประชาชนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งแปดตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละรายได้เสียให้แก่จำเลยไปตามที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องแล้ว และจำเลยได้นำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหายทั้งแปดไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด การกระทำที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดโดยทุจริต และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งแปดซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละคน จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนใดเมื่อวันเดือนปีใดและหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนกี่ครั้ง หรือได้เงินจากผู้เสียหายแต่ละรายครั้งละเท่าใด เงินที่ได้จากการหลอกลวงนำไปใช้เป็นค่าซื้อแพะกี่ตัว เป็นเงินเท่าใด เงินที่มิได้นำไปซื้อแพะมีเท่าใด หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับจากผู้เสียหายแต่ละรายเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 6 ถึงที่ 8 ต่างไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน เพิ่งรู้จักจำเลยก็เนื่องจากต้องการให้จำเลยประกอบพิธีกรรมให้ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายแต่ละคนมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในอันที่จะเบิกความให้ผิดไปจากความจริงเพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษทางอาญา ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าผู้เสียหายเหล่านั้นมีศรัทธาและเชื่อตามที่จำเลยบอกและยืนยัน การที่จำเลยแสดงความสามารถในการดูดวงและคุยโอ้อวดยืนยันต่อผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถทำพิธีเพื่อให้รวย หมดเคราะห์ หมดหนี้ หรือทำให้ขายที่ดินหรือตึกได้ดังกล่าวข้างต้น ทั้งที่จำเลยไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย และแม้ในส่วนของผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 จะได้ความว่าเป็นผู้ไปขอให้จำเลยช่วยรักษาโรคให้ แต่จำเลยก็มิได้ปฏิเสธว่าไม่สามารถรักษาโรคได้ กลับทำการสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 โดยบอกผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ในทำนองว่าต้องทำพิธีดังกล่าวจึงจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งยังได้ประกอบพิธีทำน้ำมนต์และนำไปอาบให้แก่ผู้เสียหายที่ 7 และที่ 8 และจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่บ้านของผู้เสียหายที่ 1 ที่จำเลยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมบ่อยครั้ง ซึ่งพันตำรวจโทบุญยิ่งพนักงานสอบสวนได้ถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.4 ตามภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพแสดงหนังสือสวดมนต์อิสลาม ธูปเทียน สายสิญจน์และโอ่งน้ำมนต์ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยใช้ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายและบุคคลอื่นนั้นเอง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดและบุคคลอื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งแปดตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนฎีกาของจำเลยที่จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าจะถูกฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงเงินของผู้เสียหายแต่ละคนไปเท่าใดนั้น จึงไม่ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องจำนวนเงินมาแต่แรกนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์และความเสียหายที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้รับโดยละเอียดแล้ว การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปด นายสมศักดิ์รวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดประเภทบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่างๆ เช่นที่บ้านของนางมาเรียม บ้านของผู้เสียหายที่ 1 บ้านของผู้เสียหายที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่พูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่า จะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบรวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวยได้ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ความว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ว่าจะต้องใช้เงินซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยซึ่งจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยได้ ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่อย่างใด ศาลจึงมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน