คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แต่ยังคงค้างชำระค่าปรับ ปัญหาที่ว่าโจทก์ค้างชำระค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าหรือไม่ และต้องชำระค่าปรับให้แก่จำเลยหรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประเด็นที่ว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยหรือไม่ โจทก์รับว่าค้างชำระค่าปรับแก่จำเลยตามสัญญาจริงเพียงแต่โต้แย้งว่าค่าปรับสูงเกินไป คดีจึงมีปัญหาว่าค่าปรับตามสัญญา เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนหรือไม่ เมื่อสัญญาเช่าซื้อมีข้อสัญญาว่า โจทก์ (ผู้ซื้อ) ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลย (ผู้ขาย) โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นระยะเวลา 20 เดือน เป็นรายวัน วันละ 650 บาท ทุก 7 วัน เป็นเงิน 4,550 บาท หากไม่ส่งตามที่กำหนดปรับวันละ 100 บาท ปรับทุกครั้งไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่จำเลย ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การชำระค่าเช่าซื้อของโจทก์ชำระงวดละ 4,550 บาท ถ้าโจทก์ผิดนัดจะต้องเสียค่าปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ เท่ากับโจทก์ต้องเสียค่าปรับ 803 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 8 ท – 7851 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงแทนเจตนาจำเลย กับให้ชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 8 ท – 7851 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า … ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แสดงว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แต่ยังคงค้างชำระค่าปรับ ปัญหาที่ว่าโจทก์ค้างชำระค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าหรือไม่ และต้องชำระค่าปรับให้แก่จำเลยหรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประเด็นที่ว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยหรือไม่ ประกอบกับคู่ความได้นำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องค่าปรับไว้แล้ว เพื่อความสะดวกและรวดเร็วและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตรงกันว่า โจทก์ยังค้างชำระค่าปรับ โจทก์ฎีกาโดยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยังค้างชำระค่าปรับแก่จำเลยตามสัญญาจริง แต่โจทก์ฎีกาว่า การคิดค่าปรับตามสัญญาเช่าซื้อเป็นการเรียกค่าปรับสูงเกินไป จึงมีปัญหาว่าค่าปรับตามสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยคิดเบี้ยปรับกรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าวันละ 100 บาท คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนหรือ 803 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนจำเลยเบิกความว่า คดีนี้โจทก์ส่งเงินล่าช้าและขอร้องจำเลยให้นำเงินดังกล่าวไปชำระค่าเช่าซื้อก่อน เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว จึงจะหาเงินมาชำระค่าเบี้ยปรับและดอกเบี้ยภายหลัง จำเลยตกลงแต่จะขอคิดเบี้ยปรับและดอกเบี้ยในการส่งค่าเช่าซื้องวดสุดท้าย โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าเป็นเวลา 2,139 วัน คิดค่าปรับวันละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 213,900 บาท และโจทก์ยังค้างชำระดอกเบี้ยล่าช้าอีก 50,000 บาท แต่จำเลยขอคิดเพียง 200,000 บาท เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยโดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นระยะเวลา 20 เดือน เป็นรายวันวันละ 650 บาท ทุก 7 วัน เป็นเงิน 4,550 บาท หากไม่ส่งตามที่กำหนดปรับวันละ 100 บาท ปรับทุกครั้งไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่จำเลย ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การชำระค่าเช่าซื้อของโจทก์ชำระงวดละ 4,550 บาท ทุก 7 วัน ถ้าโจทก์ผิดนัดจะต้องเสียค่าปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จเท่ากับโจทก์ต้องเสียค่าปรับ 803 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยได้รับความเสียหายจากการผิดนัดมากน้อยเพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ชำระค่าปรับให้แก่จำเลยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจยังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ท – 7851 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระค่าปรับแก่จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท ก่อน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share