คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ถึง 6 มีนาคม 2528 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยนำความเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายจำเลยและชิงทรัพย์คือสร้อยคอทองคำขาว 1 เส้น พร้อมจี้เพชรของจำเลย เพื่อแกล้งให้โจทก์รับโทษทางอาญา โจทก์ไม่จำต้องระบุในฟ้องว่าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ใดก็สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ทั้งเป็นการกล่าวแสดงเจตนาของจำเลยในตัวว่า จำเลยทราบแล้วว่าความจริงไม่เป็นดังที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาสถานที่พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 173, 174 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ให้จำคุก6 เดือน คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาในข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 5 ถึง 6 มีนาคม 2528 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้นำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์คือสร้อยคอทองคำขาว 1 เส้น พร้อมจี้เพชรของจำเลยไปโดยไม่ระบุให้แน่ชัดว่าวันเวลาใดแน่ และใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความทั้งไม่มีข้อความว่าจำเลยทราบว่ามิได้มีความผิดจริง แต่ก็ยังแจ้งความเท็จดังกล่าว อันเป็นองค์ประกอบของความผิด เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าเมื่อวันที่ 5 ถึง 6 มีนาคม2528 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกันเป็นวันที่จำเลยแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งลักษณะของการกระทำผิดในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยแจ้งความ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันใน 2 วันดังกล่าวส่วนพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความเป็นผู้ใด โจทก์ไม่จำต้องระบุในฟ้องก็สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ นอกจากนี้ฟ้องโจทก์ยังระบุว่าจำเลยแจ้งความเท็จก็เพื่อแกล้งให้โจทก์รับโทษในทางอาญา อันเป็นการกล่าวแสดงเจตนาของจำเลยในตัวว่า จำเลยทราบแล้วว่าความจริงไม่เป็นดังที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,172, 173, 174 ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาสถานที่พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share