แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 2 แสดงว่า ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองในฐานะเดียวกัน เท่าเทียมกับสิทธิของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยผู้ร้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่ของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อน จึงจะมายื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 และ 7 ประกอบกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง
แม้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องหลังจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองถูกปิดกิจการและอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถอนุโลมบังคับใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. นี้ คือ มาตรา 1259 ที่บัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งความข้อนี้สอดรับกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย ดังนั้น การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี 6,768,399.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14995, 14996 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14995 ออกประกาศขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ต่อมาผู้ขอรับชำระหนี้จำนองยื่นคำร้องขอว่า ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.6122/2545 ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คสองฉบับเป็นเงินฉบับละ 2,000,000 บาท และ 1,000,000 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ให้แก่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 14995 และโฉนดเลขที่ 14996 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วน ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองจึงขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 14995 ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดไว้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้ทำสัญญาโอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 จึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม (ที่ถูกต้องเป็น ขอรับชำระหนี้แทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง)
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนอง โดยให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นแทนโจทก์เดิม (ที่ถูก แทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง) ได้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2544 ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสอง ในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.6122/2545 เมื่อโจทก์ในคดีนี้ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14995 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในฐานะผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและโอนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยทั้งสองให้แก่ผู้ร้อง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนองหรือไม่ เห็นว่า นายภาณุวัฒน์ ทนายความผู้ร้องเป็นพยานเบิกความในฐานะพยานผู้ร้องและตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ตรงกันว่า เนื่องจากคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เมื่อผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยให้แก่ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 2 แสดงว่าผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองในฐานะเดียวกัน เท่าเทียมกับสิทธิของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามคำสั่งลงวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ซึ่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่อนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในคดีนี้ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากคำร้องว่าผู้ขอรับชำระหนี้จำนองมีความประสงค์จะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องมีความประสงค์เพียงมุ่งสืบสิทธิเดิมของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองมิให้ขาดตอนหรือต้องการสงวนรักษาสิทธิเดิมไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 2 มาจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโดยไม่ได้ต้องการที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมหรือมีความมุ่งหมายที่เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.6122/2545 เพื่อขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ผู้ร้องจะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง ผู้ร้องจะต้องไปยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อนจึงจะมายื่นคำร้องในคดีนี้ได้ แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดวิธีการพิเศษในการเข้าสวมสิทธิแทนที่ในกรณีที่สถาบันการเงิน เช่น ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ซึ่งก็คือผู้ร้องไว้ว่า ให้โอนสิทธิแก่กันได้ตามกฎหมายดังกล่าวโดยไม่จำต้องไปยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองอีก นอกจากนี้ในมาตรา 6 ของกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันก็ให้หลักประกันนั้นตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วย ซึ่งสิทธิจำนองถือเป็นทรัพยสิทธิที่มิใช่หลักประกันอย่างอื่นตามความหมายของบทบัญญัติมาตรานี้ สิทธิจำนองดังกล่าวย่อมตกติดไปกับทรัพย์นั้นโดยนิตินัยอยู่แล้ว นอกจากนี้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน สิทธิจำนองตกแก่ผู้ซื้อด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 2 ที่ผู้ร้องซื้อมาจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเป็นที่ดินที่มีโฉนดและติดภาระจำนอง ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อหรือผู้รับโอนจึงชอบที่จะรับโอนไปพร้อมทั้งสิทธิหน้าที่และภาระที่อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวยังมีอยู่ และสามารถเข้าสวมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้นในฐานะเจ้าหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ กรณีหาใช่เป็นไปตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ที่ว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ไม่เปิดช่องให้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนสิทธิแก่ผู้ร้องแต่ประการใดไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองทำสัญญาโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องภายหลังจากที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้เลิกประกอบกิจการไปแล้ว และอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงไม่สามารถสวมสิทธิในคดีนี้ ดังคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองถูกปิดกิจการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 และอยู่ระหว่างดำเนินการชำระบัญชี วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องในระหว่างนี้ก็ตาม แต่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีโดยอนุโลม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่อ้างถึงดังกล่าว ปรากฏใจความเกี่ยวข้องที่สามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามพระราชกฤษฎีกานี้ คือ มาตรา 1259 ที่บัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งความในข้อนี้สอดรับกับพระราชกฤษฎีกาฯ มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแก่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย เมื่อพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติใดที่ห้ามผู้ขอรับชำระหนี้จำนองทำการโอนขายสินทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างชำระบัญชี ในทางกลับกัน กฎหมายกลับสนับสนุนให้สามารถกระทำได้เพื่อจะได้จำหน่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกลับมาเป็นตัวเงินเพื่อแบ่งปันคืนทุนอันเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งจะเป็นหนทางที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องในระหว่างที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองอยู่ระหว่างดำเนินการชำระบัญชี จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหาเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้อง การเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ