คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2026/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

นอกจากคดีนี้แล้วปรากฏว่าศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า การออกโฉนดในบริเวณรอบๆ องค์พระพุทธบาทไม่ชอบเป็นการออกทับที่ธรณีสงฆ์ของผู้ร้องสอด เจ้าหน้าที่ของรัฐหาได้คำนึงถึงเขตพุทธาวาส สังฆาวาส อันเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาพงศาวดารพระพุทธบาทแล้ว ทำให้เห็นศรัทธาของพระเจ้าทรงธรรมที่ทรงมีต่อองค์พระพุทธบาทอย่างแรงกล้า ทรงดั้นด้นเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางน้ำและทางบก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีสภาพเป็นป่า การเสด็จพระราชดำเนินกระทำด้วยความยากลำบาก พระองค์มิได้ทรงย่อท้อแต่อย่างใด ดังนั้นที่พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการอุทิศถวายที่ดินที่มีสภาพเป็นป่าในขณะนั้นออกไปเป็นบริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์ (400 เส้น) นั้น จึงสมเหตุสมผล ส่วนที่ต่อมาความเจริญเข้ามาสู่ที่ดินดังกล่าว ประกอบกับผู้ร้องสอดไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นเหตุให้มีการรุกล้ำทั้งจากเอกชนและหน่วยราชการ รวมทั้งมีการออกโฉนดในที่ดินด้วย และเมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ดินของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าอยู่ห่างจากวัดผู้ร้องสอดเพียง 20 เส้น จึงฟังได้ว่าเป็นที่ดินของผู้ร้องสอด แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในทำนองว่ามี พ.ร.ฎ. ในภายหลังเปลี่ยนสถานะที่ดินของผู้ร้องสอดไปแล้วเป็นเหตุให้ราษฎรสามารถมีกรรมสิทธิ์ได้นั้นก็ตาม แต่พระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น แม้จะออก พ.ร.ฎ. จริง ก็ไม่สามารถลบล้างพระบรมราชโองการได้ อีกทั้งที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างจากวัดผู้ร้องสอดไม่มากเชื่อว่าผู้ร้องสอดสามารถดูแลได้ ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสี่เช่าอยู่อาศัยเพียงแต่ขณะที่มีการออกโฉนดทางเจ้าพนักงานมิได้แจ้งให้ผู้ร้องสอดทราบ จึงทำให้ผู้ร้องสอดไม่มีโอกาสคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว เมื่อการออกโฉนดดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้ร้องสอดไม่ร้องขอให้เพิกถอน แต่เมื่อฟังได้ว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องสอด ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนได้

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนรวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนที่ 1 ถึง 4 เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสี่สำนวนขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินคืนให้ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 15,000 บาท จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท และจำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหาย 15,000 บาท พร้อมค่าเสียหายในอัตราดังกล่าวที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดต่อโจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้อง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องและให้โจทก์นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนเพิกถอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอด ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 20402, 20404, 20405, 20406 และ 20407 ตำบลพระพุทธบาท (ขุนโขลน) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และให้โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนโฉนดเลขที่ดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องสอด และจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความให้ผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสี่ฝ่ายละ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามพงศาวดารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทว่า พระพุทธบาทถูกค้นพบในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ระหว่าง พ.ศ.2163 ถึง 2271 โดยพรานบุญพบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขาเห็นประหลาด พระเจ้าทรงธรรมดีพระทัย เสด็จด้วยเรือพระที่นั่ง แล้วเสด็จทางพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ พร้อมด้วยคเชนทรเสนาคนิกรเป็นอันมาก พรานบุญเป็นมัคคุเทศก์นำลัดตัดพงไปถึงเชิงเขา พระเจ้าทรงธรรมทอดพระเนตรเห็นแท้เป็นรอยพระพุทธบาทมีลายลักษณ์กงจักร… ทรงโสมนัสปรีดาปราโมทย์ ถวายทัศนัขเหนือพระอุตมางคศิโรตม์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์เป็นหลายครา กระทำสักการบูชาด้วยธูปเทียนคันธรสจะนับมิได้… พระเจ้าทรงธรรมอุทิศถวายวนาสณฑ์เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจัดการสถาปนาเป็นมณฑปสวมพระบรมพุทธบาทและสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญ ตึกกว้านกุฎีสงฆ์เป็นอเนกนุประการแล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวาตรงตลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วถางทุบปราบให้รื่นราบเป็นถนนหลวงเสด็จ พระเจ้าทรงธรรมเสด็จกลับถึงท่าเรือ ทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งพระราชนิเวศน์ตำหนักฟากตะวันออกให้ชื่อพระตำหนักท่าเจ้าสนุก… รัฐตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอเสาไห้ อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองโดน และอำเภอไชยบาดาล จังหวัดสระบุรี และอำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง และอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พ.ศ.2483 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี พ.ศ.2485 มีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2518 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายบัญญัติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 และทำสัญญาซื้อขายที่สำนักงานที่ดิน แต่เดิมบริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 10966 ของนายชาญ ซึ่งได้รับที่ดินจากกรมประชาสงเคราะห์โดยออกเป็นพระราชบัญญัติจัดสร้างนิคมสร้างตนเองปี 2485 และโอนต่อกันมาตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งที่ดินพิพาทแบ่งแยกมาจากโฉนดดังกล่าว หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินแล้ว พบว่าจำเลยทั้งสี่ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินจากนายบัญญัติ
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 20402 และ 20404 ถึง 20407 ตำบลพระพุทธบาท (ขุนโขลน) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นที่ดินของผู้ร้องสอดหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่ดินทั้งสี่แปลงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการวินิจฉัยก้าวล่วงไปว่าทางราชการออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องใช้วิจารณญาณอันสูงในการออกโฉนดว่าจะก้าวล่วงกระทบกระเทือนต่อเขตพุทธาวาส สังฆาวาส อันเป็นที่ธรณีสงฆ์ของผู้ร้องสอด เห็นว่า นอกจากคดีนี้แล้วก็ปรากฏว่ายังมีอีกหลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วว่า การออกโฉนดในบริเวณรอบๆ องค์พระพุทธบาทไม่ชอบเป็นการออกทับที่ธรณีสงฆ์ของผู้ร้องสอด เจ้าหน้าที่ของรัฐหาได้คำนึงถึงเขตพุทธาวาสสังฆาวาส อันเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาพงศาวดารพระพุทธบาทแล้วทำให้เห็นศรัทธาของพระเจ้าทรงธรรมว่าทรงมีต่อองค์พระพุทธบาทอย่างแรงกล้า ทรงดั้นด้นพระราชดำเนินทั้งทางน้ำและทางบก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีสภาพเป็นป่า การเสด็จพระราชดำเนินกระทำด้วยความยากลำบาก แต่พระองค์มิได้ย่อท้อแต่อย่างใด ดังนั้น มีพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการอุทิศถวายที่ดินที่มีสภาพเป็นป่าในขณะนั้นออกไปเป็นบริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์ (400 เส้น) นั้น จึงสมเหตุสมผล ส่วนที่ต่อมาความเจริญเข้ามาสู่ที่ดินดังกล่าว ประกอบกับผู้ร้องสอดไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงจึงเป็นเหตุให้มีการรุกล้ำทั้งจากเอกชนและหน่วยราชการ รวมทั้งมีการออกโฉนดในที่ดินด้วย และเมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ดินของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าอยู่ห่างจากวัดผู้ร้องสอดเพียง 20 เส้น จึงฟังได้ว่าเป็นที่ดินของผู้ร้องสอด แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในทำนองว่ามีพระราชกฤษฎีกาในภายหลังเปลี่ยนสถานะที่ดินของผู้ร้องสอดไปแล้วเป็นเหตุให้ราษฎรสามารถมีกรรมสิทธิ์ได้นั้นก็ตาม แต่พระบรมราชโองการพระราชทานที่ดิน มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น แม้จะออกพระราชกฤษฎีกาจริงก็ไม่สามารถลบล้างพระบรมราชโองการได้ อีกทั้งที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างจากวัดผู้ร้องสอดไม่มาก เชื่อว่าผู้ร้องสอดสามารถดูแลได้ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสี่เช่าอยู่อาศัย เพียงแต่ขณะที่มีการออกโฉนดทางเจ้าพนักงานมิได้แจ้งให้ผู้ร้องสอดทราบ จึงทำให้ผู้ร้องสอดไม่มีโอกาสคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว เมื่อการออกโฉนดดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้ร้องสอดไม่ร้องขอให้เพิกถอน แต่เมื่อฟังได้ว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องสอดศาลก็มีอำนาจเพิกถอนได้ แต่ที่ศาลล่างพิพากษาให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นเป็นการไม่ชอบเพราะสามารถนำคำพิพากษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนผู้ร้องสอด และจำเลยทั้งสี่คนละ 2,000 บาท

Share