คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5068/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอนุญาตให้อุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 22 ทวิ ผู้พิพากษาผู้อนุญาตจะมีคำสั่งและบันทึกข้อความตามหลักเกณฑ์ของบทกฎหมายดังกล่าวไว้ในคำร้องก็ได้ ไม่จำต้องบันทึกการอนุญาตไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยตรง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า รูปคดีมีเหตุสงสัยตามสมควรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศษลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นไม่ถูกต้อง พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2531ขอให้ศาลชั้นต้นรับรองและอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงข้อความที่ศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ในคำร้องมีข้อความตรงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์… ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” คดีนี้ปรากฏว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้มีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่12 กันยายน 2531 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้อุทธรณ์ ดังนี้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตและบันทึกไว้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ขอบทกฎมายดังกล่าวทุกประการแล้ว โดยไม่จำต้องบันทึกการอนุญาตไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์โดยตรงดังคำแก้ฎีกาจำเลยอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้าม
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2รับ-อุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share