คำวินิจฉัยที่ 29/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นเอกชน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ และจำเลยร่วม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ โจทก์พบว่าจำเลยที่ ๑ แจ้งการครอบครองอันเป็นเท็จในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ต่อจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการออกโฉนดที่ดิน ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ เพื่อขอรวมโฉนดและขอแบ่งแยกที่ดิน ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๐๙๙ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ในระหว่างที่โจทก์คัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาท และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขายให้แก่จำเลยที่ ๓ ขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ มาจากกองมรดกของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินโดยแท้จริง จำเลยที่ ๓ จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาทางนิติกรรม โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริต จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน จำเลยร่วมให้การว่า คดีขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๕๗

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ นายวิรวัฒน์ เทียมทัศน์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายอรินทม์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ที่ ๒ การเคหะแห่งชาติ ที่ ๓ จำเลย และกรมที่ดิน จำเลยร่วม ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๖๔/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๗ ไร่เศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยสงบเปิดเผย ตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ จนถึงปี ๒๕๔๗ โจทก์พบว่าจำเลยที่ ๑ แจ้งการครอบครองอันเป็นเท็จในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ต่อจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการออกโฉนดที่ดิน ไม่ตรวจสอบ สอบสวนเพื่อออกประกาศแจ้งบุคคลทั่วไปหรือโจทก์ทราบก่อนออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ จำนวน ๒ ครั้ง เพื่อขอรวมโฉนดและขอแบ่งแยกที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ ๒ อนุญาต ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๐๙๙ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๘ ระหว่างที่โจทก์คัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาท และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขายให้แก่จำเลยที่ ๓ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ กับทั้งให้จำเลยทั้งสามคืนที่ดินจำนวน ๗ ไร่ ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ และที่ดินพิพาทแปลงอื่นๆ รวม ๘ แปลง มาจากกองมรดกของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินโดยแท้จริง ดังนั้น จำเลยที่ ๓ จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาทางนิติกรรม โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้หมายเรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๓ ศาลมีคำสั่งอนุญาต เนื่องจากกรมที่ดินเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการออกโฉนดที่ดินพิพาทและในฐานะเป็นหน่วยงานบังคับบัญชาของสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
จำเลยร่วมให้การว่า คดีขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม จำเลยที่ ๓ ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้
จำเลยร่วมยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลความแห่งคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ ๑ ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ และสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยร่วมดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้ที่ดินพิพาทตกไปเป็นส่วนหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ เลขที่ดิน ๓๒๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอรวมโฉนด ทำให้ที่ดินพิพาทตกไปเป็นส่วนหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๐๙๙ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และภายหลังจำเลยที่ ๑ ยื่นเรื่องขอแบ่งแยกที่ดิน ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ เลขที่ดิน ๔๕๗ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งโจทก์มีคำขอให้เพิกถอนการออกโฉนดพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และเพิกถอนถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ โดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์กลับมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการออกโฉนดที่ดิน ไม่ตรวจสอบ สอบสวนเพื่อออกประกาศแจ้งบุคคลทั่วไปหรือโจทก์ทราบ แต่การจะวินิจฉัยว่าจะเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทและเพิกถอนนิติกรรมตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ก่อน เนื่องจากเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงจะวินิจฉัยประเด็นเรื่องการเพิกถอนการออกโฉนดระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ได้ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ และประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีดังกล่าวพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยร่วมเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการรังวัดทำแผนที่ การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน การให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการจัดข้อมูลสารสนเทศที่ดิน เพื่อให้บุคคลมีความมั่นคงในการถือครองที่ดินและได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการที่ดินของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จำเลยร่วมจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยร่วม ทำการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ เลขที่ ๑๐๕๐๙๙ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ และจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและการจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว และให้ชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คำฟ้องคดีนี้ในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกัน ชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินบริเวณที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ครอบครองอยู่ เป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ นั้น ศาลปกครองกลางเห็นว่า ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี ซึ่งมิได้ทำให้คดีที่เป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งแต่อย่างใด นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันได้ว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน และสามารถนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีปกครองได้ ศาลปกครองกลางจึงเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ และจำเลยร่วม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ โดยสงบเปิดเผย โจทก์พบว่าจำเลยที่ ๑ แจ้งการครอบครองอันเป็นเท็จในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ต่อจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการออกโฉนดที่ดินไม่ตรวจสอบ สอบสวนเพื่อออกประกาศแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ จำนวน ๒ ครั้ง เพื่อขอรวมโฉนดและขอแบ่งแยกที่ดิน ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๐๙๙ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ในระหว่างที่โจทก์คัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาท และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขายให้แก่จำเลยที่ ๓ ขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๑๐๑ และเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๑๗๙๗ มาจากกองมรดกของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินโดยแท้จริง จำเลยที่ ๓ จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาทางนิติกรรม โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริต จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน จำเลยร่วมให้การว่า คดีขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวิรวัฒน์ เทียมทัศน์ โจทก์ นายอรินทม์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ที่ ๒ การเคหะแห่งชาติ ที่ ๓ จำเลย และกรมที่ดิน จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share