คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งลำไยอบแห้งจากจังหวัดเชียงใหม่ไปส่งให้แก่บริษัท ซ ที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ จากท่าเรือแหลมฉบังไปส่งที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 14 ปรากฏว่าจำเลยจัดส่งสินค้าดังกล่าวไปที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 4 ท่าเรือไหว่เกาเชียว เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งพยานจำเลยก็ยอมรับว่า ที่เมืองเซี่ยงไฮ้มีท่าเรือขนาดใหญ่อยู่ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือไหว่เกาเชียว ท่าเรือวูซองและท่าเรือหยานชาง และข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างได้ความว่าท่าเรือไหว่เกาเชียวไม่มีท่าเรือหมายเลข 9 และ 14 ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่า หากกล่าวถึงท่าเรือหมายเลข 9 และ 14 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ย่อมหมายถึงท่าเรือวูซองหมายเลข 9 และ 14 ดังที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ขนส่งสินค้าของโจทก์ไปยังท่าเรือปลายทางที่ตกลงไว้ การที่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมารับสินค้าไปจากจำเลยที่ท่าเรือปลายทาง ซึ่งมิใช่ท่าเรือที่ตกลงกันไว้ภายในกำหนดเวลาและสินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่มีความเสียหาย ก็ถือได้ว่าการปฏิบัติการชำระหนี้ของจำเลยเป็นกรณีไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์ หากโจทก์ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,319,546 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเลหรือไม่ เห็นว่านายบวรวิศาลพยานจำเลยเบิกความรับว่า เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าตามฟ้อง พยานได้เข้าไปที่บริษัทโจทก์พบกับนางจิตนา มีการพูดคุยถึงรายละเอียดในการขนสินค้าลำไยอบแห้งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ14 และได้ออกหนังสือตกลงขนส่งสินค้า และมีหนังสือแจ้งอัตราค่าระวางขนส่งให้โจทก์ทราบ หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวมีข้อความระบุยืนยันว่า จำเลยสามารถขนส่งสินค้าไปยังท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 14 ของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ได้ และนายบวรวิศาลเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ภายหลังที่จำเลยตกลงรับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แล้ว ฝ่ายจำเลยได้มีการติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งประจำอยู่ที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ และได้รับการแจ้งว่า การขนส่งสินค้ารายนี้สามารถส่งไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 14 ได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยได้ตกลงกับโจทก์ตั้งแต่แรกว่าสามารถขนส่งสินค้าของโจทก์ไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 14 ได้ ซึ่งนายบวรวิศาลพยานจำเลยก็ยอมรับว่า ท่าเรือที่เมืองเซี่ยงไฮ้นั้นจะมีท่าเรือขนาดใหญ่อยู่ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือไหว่เกาเชียว ท่าเรือวูซองและท่าเรือหยานชาง และข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่า เรือสินค้าของจำเลยเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือไหว่เกาเชียว ท่าเทียบเรือหมายเลข 4 และท่าเรือไหว่เกาเชียว ไม่มีท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 14 ดังนั้น จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า หากกล่าวถึงท่าเรือหมายเลข 9 และ 14 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้นั้นย่อมหมายถึงท่าเรือวูซองหมายเลข 9 และ 14 ดังที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยนำสืบมาว่า จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ตกลงให้จำเลยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือไหว่เกาเชียว เพราะเรือสินค้าของจำเลยสามารถจอดเทียบท่าได้ที่ท่าเรือดังกล่าว และในใบตราส่งทั้งสองฉบับก็ระบุท่าเรือปลายทางว่าท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งหมายถึงท่าเรือไหว่เกาเชียวนั้น มีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ขนส่งสินค้าของโจทก์ไปยังท่าเรือปลายทางที่ตกลงไว้ การที่ลูกค้าของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมารับสินค้าไปจากจำเลยที่ท่าเรือปลายทาง ซึ่งมิใช่ท่าเรือที่ตกลงกันไว้ภายในกำหนดเวลาและสินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่มีความเสียหายก็ถือได้ว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ของจำเลยเป็นกรณีไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์ หากโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 215
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ เห็นว่า แม้การที่บริษัทเซี่ยงไฮ้ เซนท์ เทรดดิ้ง จำกัดไม่ยอมชำระเงินค่าว่าจ้างให้แก่โจทก์ ถือเป็นความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือปลายทางที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่า ความเสียหายตามปกติอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยมีมากน้อยเพียงใด เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 300,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยแพ้คดีในศาลฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 18,000 บาท

Share