คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7363/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า ข้อ 1 (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 6.6 คือ พนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุ คือให้พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 ถึง 2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังอันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 6.6 (2) จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 56 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 387,273.13 บาท และค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 248,942.27 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนภาษีดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กันยายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า เงินได้เฉพาะส่วนที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 6.6 ระบุว่า พนักงานพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานกรณีครบเกษียณอายุ คือ พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ส่วนระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่องการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 ถึง 2550 ไม่มีข้อความใดให้ถือว่าเป็นการเกษียณอายุหรือครบกำหนดสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่กลับกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศจ่ายภาษีเงินได้ทอดแรกให้ผู้ออกจากงานอันเป็นการยอมรับว่าไม่ใช่กรณีเกษียณอายุ กรณีของโจทก์จึงไม่ใช่การเกษียณอายุตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ดังนั้น เงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงไม่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า ข้อ 1 (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 6.6 คือ พนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุ คือให้พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 ถึง 2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง อันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 6.6 (2) จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 56 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามความในข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ ข้อนี้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 49 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรืออุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งคืนภาษีน้อยกว่าที่ขอคืน โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 49 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงไม่นำเอาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาใช้บังคับตามที่จำเลยอุทธรณ์ และไม่อาจนำมาใช้ในลักษณะของบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งด้วย เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน อนึ่ง แม้ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และมีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง ศาลจึงต้องพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share