คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 มาตรา 7 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำนวนเงินที่ให้ใช้คืนแก่ผู้เสียหาย เป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
แม้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 จะยกเลิกพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองหางาน พ.ศ.2511 แต่ก็มิได้ยกเลิกความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยกระทำในทางตรงกันข้ามกลับกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงชอบที่จะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะจำเลยกระทำผิดเพราะเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑, ๓๔๑, ๓๔๓ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗, ๒๗ นับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ ๘๕๖/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันคืนเงินจำนวน ๓๑๘,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ๒๖ คน
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำคุกคนละ ๑ เดือนและจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำคุกคนละ ๕ ปี รวมโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๕ ปี ๑ เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน ๓๑๘,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ๒๖ คน ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ ๘๕๖/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ จึงไม่มีโทษจำคุกจะนับต่อให้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน ๓๐๘,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ๒๖ คน โดยเฉพาะนายสิม พัดไธสง ให้ได้รับเงินเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กระทงละไม่เกิน ๕ ปี จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อ ๒.๑ ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็อ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อ ๒.๑
สำหรับฎีกาข้อ ๒.๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาเป็นประการแรกว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗ ยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๒๘ มาตรา ๓ จะนำกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาลงโทษจำเลยหาได้ไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อฎีกาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าแม้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๒๘ จะยกเลิกพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ แต่ก็มิได้ยกเลิกความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กระทำ ในทางตรงกันข้ามกลับกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้นศาลจึงชอบที่จะลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กระทำผิด เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า เมื่อข้อเท็จจริงมิได้ปรากฏว่าจำเลยได้ประการโฆษณาต่อประชาชนโดยทั่วไปเพียงแต่พูดจาชักชวนพวกผู้เสียหาย ๒๖ คนเท่านั้น จะลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชนหาได้ไม่นั้นปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันมีเจตนาทุจริต เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายทั้ง ๒๖ คน และประชาชนให้สมัครไปทำงานในต่างประเทศกับจำเลยทั้งสามเพื่อเอาเงินจากผู้ถูกหลอกลวงดังกล่าวดังนั้นข้อฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ดังกล่าวจึงเป็นการคัดค้านคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาหลอกลวงเฉพาะผู้เสียหาย ๒๖ คนเท่านั้นแต่มีเจตนาหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปด้วย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share