แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธนาคารออมสิน จำเลย เป็นกิจการของรัฐ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 และโจทก์ทั้งหมดมีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย โจทก์ทั้งหมดและจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แม้จำเลยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานาน ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จะมีบทเฉพาะการในมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ยังคงใช้บังคับต่อไป ก็มิได้หมายความว่าห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไม่อาจดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งบัญญัติถึงวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้โดยให้นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในกิจการของเอกชนเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจด้วย ทั้ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ก็มิได้มีบทบัญญัติในลักษณะเช่นนั้น ประกอบกับรัฐวิสาหกิจเป็นกิจการของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจนำเงินที่ประหยัดได้ไปเพิ่มวงเงินเพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนที่เบิกจ่ายได้จริงมีจำนวนสูงขึ้นและรัฐวิสาหกิจยังไม่ได้จ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ให้แก่พนักงาน คณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2541 ลงได้ไม่เป็นการลงมติย้อนหลัง และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลงทุกแห่ง ทุกคน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใด มติคณะรัฐมนตรีจึงมีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
คดีทั้งเจ็ดสิบแปดสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 78
โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งเจ็ดสิบแปดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดสละข้ออ้างเรื่องการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตามคำฟ้องข้อ 6 จำเลยสละข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การข้อ 7 และโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสตามมติคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย ล.1 มาตั้งแต่ปี 2525 จนปัจจุบัน ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารประจำปี 2541 ลงในอัตราร้อยละ 30 ของวงเงินโบนัสที่มีสิทธิได้รับ ตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้โจทก์ทุกคนทราบแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดทำหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขอให้ทบทวนการปรับลดเงินโบนัส จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์แต่ละคนครบถ้วนถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย ล.2 แล้ว หากไม่มีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์แต่ละคนเพิ่มอีกตามจำนวนที่ฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพในทางทรัพย์สิน โดยได้รับโอนทรัพย์สิน สินทรัพย์ ความรับผิดและธุรกิจของคลังออมสิน กรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยต้องนำรายได้ประจำปีที่เหลือจากหักค่าใช้จ่ายและจัดสรรเป็นเงินสำรองเพื่อขยายกิจการแล้วส่งเป็นรายได้ของรัฐตามอัตราที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด หากปีใดรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายและเมื่อได้นำเงินที่สะสมไว้มาจ่ายแล้วก็ยังไม่พอรายจ่าย รัฐต้องจ่ายเงินให้เท่าที่จำเป็น ตามความในพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 มาตรา 7, 10, 11 และ 20 ถือได้ว่าจำเลยเป็นกิจการของรัฐ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 และโจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดมีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดและจำเลยจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แม้จำเลยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสตามเอกสารหมาย ล.1 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานาน ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จะมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ยังคงใช้บังคับต่อไป ก็มิได้หมายความว่าห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไม่อาจดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งบัญญัติถึงวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้โดยให้นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในกิจการของเอกชนเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจด้วย ทั้งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ก็มิได้มีบทบัญญัติในลักษณะเช่นนั้น ประกอบกับรัฐวิสาหกิจเป็นกิจการของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ว่า ประเทศชาติตกอยู่ในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจนำเงินที่ประหยัดได้ไปเพิ่มวงเงินเพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนที่เบิกจ่ายได้จริงมีจำนวนสูงขึ้น และรัฐวิสาหกิจยังไม่ได้จ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ให้แก่พนักงาน คณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2541 ลงได้ ไม่เป็นการลงมติย้อนหลัง และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลงทุกแห่ง ทุกคน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใด มติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย ล.2 จึงมีผลใช้บังคับ โจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสที่ถูกปรับลดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบแปดสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.