แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ทั้ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 30,000 บาท และผู้เสียหายที่4 ถึงที่ 8 คนละ 18,000 บาท ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานหลอกลวงคนหางานว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และฐานฉ้อโกง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 30,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 คนละ 18,000 บาท รวมเป็นเงิน 180,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานที่ต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปดได้ จนเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งแปดรวมจำนวน 236,000 บาท โดยความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยทุจริตที่อาศัยโอกาสจากความต้องการหางานทำในต่างประเทศของผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในสังคมมาเป็นช่องทางในการกระทำความผิด เป็นการกระทำซ้ำเติมต่อบุคคลดังกล่าวให้ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จะรับฟังได้ตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปดจนเป็นที่พอใจและผู้เสียหายทั้งแปดไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่จำเลยอีกต่อไป ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและบันทึกการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายแนบท้ายฎีกาก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ผู้เสียหายทั้งแปดมีสิทธิได้รับการชดใช้ความเสียหายในทางแพ่งจากจำเลยอยู่แล้ว ไม่ถือเป็นเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย คงเป็นเพียงเหตุที่จะพิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาเท่านั้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้เบากว่านั้นได้ ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ไม่เป็นเหตุที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งแปดได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไปตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ถือได้ว่าผู้เสียหายทั้งแปดและจำเลยยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปดตกไปด้วย ทั้งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปดแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปดได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงเสียจากสารบบความ ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4