คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้า คอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออกเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์
บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แจกให้แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถยนต์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ารถของลูกค้า ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้ หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ กล่าวคือ บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่า บัตรจอดรถยังอยู่กับโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทแต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างดูแลความปลอดภัยในบริเวณที่ขายสินค้ารวมทั้งดูแลรถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในบริเวณที่ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2538 เวลา 19.30 นาฬิกา นายสุเทพ ศิวะพรเสถียร ขับรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน 7 ผ – 8671 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เข้าไปจอดที่ลานจอดรถในบริเวณที่ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 เพื่อซื้อสินค้า แต่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และลูกจ้างจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวถูกลักไป โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ไปแล้วจำนวน 260,000 บาท จึงรับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 273,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 260,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การนำรถมาจอดที่ลานจอดรถของจำเลยที่ 2 ลูกค้าสามารถหาที่จอดได้ตามความพอใจ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เก็บค่าจอดรถหรือรับมอบของสิ่งใดจากลูกค้ามาเก็บรักษา เหตุที่รถยนต์พิพาทสูญหายไปเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ครอบครองรถ มิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในการนำรถเข้าจอด ลูกค้าสามารถเลือกหาที่จอดได้และต้องรับผิดชอบเพื่อไม่ให้รถสูญหายด้วยตนเอง จำเลยที่ 2 จึงไม่เคยรับฝากรถยนต์พิพาท ตลอดเวลาที่รถยนต์พิพาทจอดอยู่ที่ลานจอดรถ นายสุเทพเป็นผู้เก็บรักษากุญแจรถไว้โดยตลอด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทการ์เดียนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับประกันภัยจำเลยที่ 2 เพื่อความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า การที่จำเลยที่ 2 ให้รถยนต์มาจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 2 ก็เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ความสะดวกจัดการจราจรให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้รับมอบกุญแจรถจากผู้นำรถเข้ามาจอดและมิได้คิดค่าบริการในการจอดรถ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพาษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 7 ผ – 8671 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสุนันทา ศิวะพรเสถียร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2538 เวลา 19.30 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในอายุสัญญาประกันภัย นายสุเทพ ศิวะพรเสถียร สามีนางสุนันทาขับรถยนต์พิพาทที่โจทก์รับประกันภัยไปที่บริษัทจำเลยที่ 2 สาขาแจ้งวัฒนะเพื่อซื้อสินค้าโดยจอดรถยนต์พิพาทไว้ที่ลานจอดรถของบริษัทจำเลยที่ 2 ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทสูญหายไป โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 260,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้าคอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออก เป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยแก่รถที่เข้าจอดโดยพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถ การที่รถยนต์พิพาทสูญหายจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบตรงกันว่า ทางปฏิบัติจะมีพนักงานของจำเลยที่ 1 แจกบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถและเก็บบัตรจอดรถคืนเมื่อลูกค้านำรถออกจากลานจอดรถ ดังนั้น การที่รถยนต์ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ามีการนำรถเข้าจอดในลานจอดรถแล้วสูญหายเพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ คือบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ แต่คดีนี้โจทก์ไม่มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่า บัตรจอดรถยังอยู่กับเจ้าของรถยนต์พิพาท แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถส่วนนายสุเทพคนขับรถยนต์พิพาทและนางสุนันทาผู้เอาประกันภัยซึ่งร่วมเดินทางไปกับนายสุเทพในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นพยานสำคัญที่จะให้ความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ก่อนเกิดเหตุได้รับบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ลืมบัตรจอดรถไว้ในรถยนต์พิพาทหรือไม่ และได้ล็อกประตูรถยนต์พิพาทไว้หรือไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ตัวนายสุเทพและนางสุนันทามาเบิกความเป็นพยาน โจทก์คงมีเพียงนายไพรัชต์ พนักงานของโจทก์ซึ่งมิได้อยู่ในเหตุการณ์มาเบิกความว่า วันเกิดเหตุพนักงานจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบบัตรจอดรถให้นายสุเทพ เนื่องจากบัตรจอดรถหมดจึงมีน้ำหนักน้อย…พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์พิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงจากผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่เพียงว่า ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ เป็นการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไม่ครบถ้วน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share