คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ราคาเงินผ่อนเพิ่มดอกเบี้ย14 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แสดงว่าราคาเงินผ่อนคือราคาเงินสดบวกดอกเบี้ยดอกเบี้ยจะเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าเช่าซื้อที่จะต้องชำระ ฉะนั้นข้อสัญญาที่ว่าถ้าผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อครบ 80,000 บาทผู้ให้เช่าซื้อยินยอมโอนที่ดินที่เช่าซื้อให้ จึงหมายถึงราคาเงินผ่อนที่รวมดอกเบี้ยเข้าด้วยแล้ว หาใช่เฉพาะเงินต้นต้องครบ80,000 บาทไม่ ฎีกาที่เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่171468 และ 171469 ตำบลสวนหลวง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครจากจำเลยโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินในวันทำสัญญา 25,000 บาท และจะต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ 2,245 บาท ภายในวันที่ 5ของทุก ๆ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบตามจำนวนเงินที่เช่าซื้อ และตามสัญญาเช่าซื้อได้ระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบ 80,000 บาท ผู้ให้เช่าซื้อยินยอมโอนที่ดินให้แก่ผู้เช่าซื้อภายใน 15 วัน โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยทุกเดือน จำนวน 22 งวด เป็นเงิน 93,940 บาทจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองภายใน 15 วัน แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 119,186.16 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องจริง ที่ดินราคาเงินสดตารางวาละ 3,500 บาท ถ้าผ่อนชำระจะต้องเพิ่มดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี โจทก์ทั้งสองชำระราคาที่ดินให้จำเลยเพียง 19 งวด ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14ต่อปีเพิ่มให้แก่จำเลยด้วย โดยโจทก์ทั้งสองต้องชำระราคาค่าที่ดินให้จำเลยอีก 130,471.39 บาท แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 2 คราวติดต่อกัน โจทก์ทั้งสองต้องถูกริบเงินที่ชำระไว้และถือว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 119,186.16 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์หรือจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยว่าเงินค่าเช่าซื้อจำนวน 80,000 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อหมายถึงเฉพาะเงินต้นดังที่จำเลยกล่าวอ้างจริงหรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ว่า หากผู้เช่าซื้อซื้อที่ดินในราคาเงินสดทางฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อจะคิดตารางวาละ3,500 บาท ที่ดินเนื้อที่ 55 ตารางวา เป็นเงิน 192,500 บาทแต่เนื่องจากผู้เช่าซื้อต้องการเช่าซื้อที่ดิน ซึ่งตามหนังสือสัญญาข้อ 2 ก. ว่า ราคาเงินผ่อนเพิ่มดอกเบี้ย 14 เปอร์เซ็นต์ต่อปีแสดงว่าราคาเงินผ่อนคือราคาเงินสดบวกดอกเบี้ย ดอกเบี้ยจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าเช่าซื้อที่จะต้องชำระ เงินค่าเช่าซื้อจำนวน80,000 บาท จึงรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย หาใช่หมายถึงเฉพาะเงินต้นดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินครั้งแรก25,000 บาท และได้ชำระค่าเช่าซื้อต่อมาอีก 22 งวด ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.2 รวมเป็นเงิน 93,940 บาท เกิน 80,000 บาทจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยเพิกเฉย จำเลยได้ชื่อว่าผิดสัญญาแล้ว ฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่วินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share