แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 รับจ้างไปรับกุญแจบ้านเกิดเหตุ โดยรู้ว่าเป็นที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน แต่จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเมทแอมเฟตามีนไปซุกซ่อนที่บ้านดังกล่าว และไม่มีส่วนร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิด อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบเมทแอมเฟตามีนกับกระเป๋าเป้แบบสะพายสีดำ 10 ใบ ของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ ริบเมทแอมเฟตามีนและกระเป๋าเป้สะพายสีดำ 10 ใบ ของกลาง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 37 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละตลอดชีวิต
ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 576,000 เม็ด และชนิดเกล็ดใส 7 ห่อ รวมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 13,894.034 กรัม โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน
ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจเอก สมบูรณ์ และดาบตำรวจ เรวัต ผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความว่า จากการสืบสวนทราบว่า ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง อยู่บ้านโปร่งนก ตำบลสันศรี
อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์หรือเต่ง เป็นหัวหน้าและมีจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 5 ถึง 6 คน เป็นผู้ร่วมขบวนการจะลำเลียงยาเสพติดให้โทษจากภาคเหนือลงสู่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล พยานทั้งสองกับพวกสืบสวนและติดตามพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 กับพวกมาโดยตลอด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และนายอภิสิทธิ์กับพวกอีก 2 คน ไปซื้อตั๋วโดยสารรถยนต์ประจำทางของบริษัทสมบัติทัวร์ จำกัด ที่สถานีขนส่งอาเขต 2 จังหวัดเชียงใหม่ โดยจำเลยที่ 1 จะเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 เวลา 8 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจำเลยที่ 1 มาถึงกรุงเทพมหานคร แล้วจำเลยที่ 1 นั่งรถแท็กซี่ไปพักที่โรงแรมเวกัส ถนนประชาชื่น วันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 เวลาเช้า จำเลยที่ 1 นั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างตระเวนหาบ้านเช่า โดยทราบจากคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า จำเลยที่ 1 ต้องการหาบ้านเช่าที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว
มีรั้วรอบขอบชิด และสามารถจอดรถยนต์ได้สะดวก ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 ติดต่อขอเช่าบ้านเลขที่ 1314 ซอยดี 5 หมู่บ้านสินธร ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
แล้วจำเลยที่ 1 ไปพักค้างคืนที่โรงแรมบอสฺส์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟรังสิต วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 เข้าอยู่
ในบ้านดังกล่าว แต่ไปพักค้างคืนที่โรงแรมบอสส์เช่นเดิม ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 เวลาเที่ยงวัน จำเลยที่ 2 มาพบกับจำเลยที่ 1 หน้าโรงแรมมอสส์ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาลนวนคร และนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างตระเวนออกหาบ้านเช่าหลายแห่ง หลังจากนั้นเข้าพักที่โรงแรมนวนครโกลเด้นวิวไม่นานก็ว่าจ้างรถแท็กซี่ไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างทางมีการเปลี่ยนรถแท็กซี่ครั้งหนึ่ง
แล้วรถแท็กซี่คันใหม่มุ่งหน้าไปที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาบางปะอิน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในห้างดังกล่าวซื้อกระเป๋าเป้หลายใบ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกรถแท็กซี่ไปส่งที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาพระนครศรีอยุธยา และพบกับชาย 2 คน ชายคนหนึ่งส่งกุญแจให้แก่จำเลยที่ 2 พร้อมกับชี้มือไปที่รถกระบะยี่ห้อโตโยต้ารุ่นวีโก้ สีเทาดำ หมายเลขทะเบียน ถพ 9275 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดอยู่ที่
ลานจอดรถ แล้วจำเลยที่ 2 ขับรถกระบะดังกล่าวโดยมีจำเลยที่ 1 นั่งคู่มาด้วย กลับมาถึงบ้านเลขที่ 1314 หมู่บ้านสินธร จำเลยที่ 2 ถอยท้ายกระบะเข้าบ้าน จากนั้นช่วยกันยกกระเป๋าหลายใบลงจากรถเข้าไปในบ้าน ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถกระบะไปจอดที่สถานีรถไฟรังสิต สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าแจ๊ส สีขาว หมายเลขทะเบียน ฎล 4304 กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 4 นั่งมาในรถด้วย
เข้ามาจอดต่อท้ายรถกระบะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ลงจากรถเดินไปพูดคุยกับจำเลยที่ 4 ซึ่งนั่งอยู่ในรถ และได้ลดกระจกรถลง จากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปนั่งในรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าแจ๊ส และแล่นออกไปโดยจำเลยที่ 2 ขับรถกระบะตามไป รถยนต์ทั้งสองคันแล่นไปจอดที่หน้าบ้านเลขที่ 1314 หมู่บ้านสินธร แล้วจำเลยทั้งสี่ลงจากรถเดินเข้าไปในบริเวณบ้านดังกล่าว ต่อมากลับมาขึ้นรถและขับรถทั้งสองคันออกมา เมื่อรถยนต์ทั้งสองคันแล่นออกมาถึงบริเวณถนนของหมู่บ้าน พยานทั้งสองกับพวกจึงเข้าจับกุมและ
ตรวจค้นรถยนต์ทั้งสองคัน พบกุญแจรั้วและกุญแจบ้านที่เกิดเหตุอยู่ในลิ้นชักรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าแจ๊ส
ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 3 และที่ 4
มาบ้านที่เกิดเหตุเพื่อรับกุญแจบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งนายปัญญาหรือคม จ้างวานให้มารับ จำเลยที่ 3 จึงชักชวนจำเลยที่ 4 ให้เดินทางมาด้วยกันนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความเป็นพยานลอยๆ ทั้งขัดกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ได้นำ
เมทแอมเฟตามีนของกลางไปไว้ที่บ้านที่เกิดเหตุแล้วได้ติดต่อกับนายอภิสิทธิ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายอภิสิทธิ์แจ้งว่าจะมีคนชื่อนายคมมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่บ้านเกิดเหตุ ต่อมานายอภิสิทธิ์ ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่ามีปัญหาเกี่ยวกับคนมารับของ แต่จะให้คนมารับกุญแจ ต่อมาประมาณ 1 ชั่วโมง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขับรถมาพบกับจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ที่หน้าสถานีรถไฟรังสิต และแจ้งว่านายคม
ให้มารับกุญแจแทน นอกจากนั้นยังได้ความจากพันตำรวจโท ทักษิณ และสิบตำรวจเอก ชิณราช พยานโจทก์ว่า ได้ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่ยึดได้จากจำเลยที่ 3 แล้ว ปรากฏว่าคืนเกิดเหตุก่อนจำเลยที่ 3 ถูกจับกุม นายอภิสิทธิ์ได้โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 3 ด้วย 1 ครั้ง ตามรายการโทรศัพท์
และแผนภูมิ หากจำเลย ที่ 3 มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วยแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่นายอภิสิทธิ์จะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 3 โดยตรง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 3 รับจ้างไปรับกุญแจบ้านเกิดเหตุ โดยรู้ว่าเป็นที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน แต่จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนในการนำเมทแอมเฟตามีนมาซุกซ่อนไว้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และไม่มีส่วนร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 3 กระทำการช่วยเหลือ
หรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิด อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นความผิดส่วนหนึ่งตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยที่ 3 เข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุที่ใช้เก็บเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ตาม แต่ในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือนายอภิสิทธิ์ ทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยที่ 4 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมา และจำเลย ที่ 4 นำสืบว่า
วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ชวนจำเลยที่ 4 ไปดูไก่ชน เมื่อนายปัญญาจ้างวานให้จำเลยที่ 3 ไปรับกุญแจ
จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงชวนจำเลยที่ 4 ไปด้วย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน