แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในหัวข้อเรื่องการเกษียณอายุนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกันจะเห็นได้ว่า โจทก์แยกลูกจ้างเป็น 2 ประเภท โดยลูกจ้างประเภทที่ 2 โจทก์จะให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี ซึ่งการจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของโจทก์ฝ่ายเดียว ส่วนลูกจ้างประเภทที่ 1 แม้อายุครบ 60 ปีแล้ว การจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุไปหรือไม่มิได้ขึ้นอยู่กับโจทก์ แต่ขึ้นอยู่กับลูกจ้าง ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างไม่ว่าลูกจ้างประเภทที่ 1 หรือลูกจ้างประเภทที่ 2 เกษียณอายุ เป็นกรณีที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง และแม้จะเป็นกรณีที่ลูกจ้างประเภทที่ 1 ใช้สิทธิเกษียณอายุตนเองโดยโจทก์มอบสิทธิดังกล่าวให้ลูกจ้างประเภทที่ 1 เป็นผู้พิจารณาเองก็ยังเป็นเรื่องที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องลูกจ้างขอลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่ การที่ ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างประเภทที่ 1 ซึ่งมีอายุ 63 ปีแล้ว ไม่มีความประสงค์จะทำงานให้โจทก์อีกต่อไป ขอใช้สิทธิเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์เลิกจ้าง ส. เมื่อ ส. ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ส. ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) คำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดจำนวน 545,000 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ที่ 9/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า คำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่ 9/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดจำนวน 545,000 บาท ชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางแปลความหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์และประกาศของโจทก์ฉบับที่ 008/2543 เรื่องเงินค่าชดเชยกรณีออกจากงานเพราะอายุมากหรือทำงานนาน เอกสารหมาย จ.7 ไม่ถูกต้อง เห็นว่า เมื่อได้พิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์หัวข้อที่ 11 เรื่องการเกษียณอายุ ข้อย่อยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกันแล้วจะเห็นได้ว่า ในเรื่องการเกษียณอายุนั้น โจทก์แยกลูกจ้างออกเป็น 2 ประเภท ประเภทที่ 1 ลูกจ้างที่เข้าทำงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2534 ประเภทที่ 2 ลูกจ้างที่เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 เป็นต้นไป โดยลูกจ้างประเภทที่ 2 เมื่ออายุครบ 60 ปี และสภาพของร่างกายและจิตใจไม่พร้อมที่จะทำงานต่อไปได้ โจทก์จะให้เกษียณไป ซึ่งการจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของโจทก์ฝ่ายเดียว ส่วนลูกจ้างประเภทที่ 1 แม้อายุจะครบ 60 ปีแล้ว การจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุไปหรือไม่มิได้ขึ้นอยู่กับโจทก์ แต่ขึ้นอยู่กับลูกจ้าง โดยโจทก์จะยังไม่ให้เกษียณอายุเหมือนลูกจ้างประเภทที่ 2 การเกษียณอายุไปในกรณีนี้ลูกจ้างจะต้องเป็นฝ่ายแจ้งให้โจทก์ทราบ อันเป็นการให้สิทธิแก่ลูกจ้างประเภทที่ 1 มากกว่าลูกจ้างประเภทที่ 2 ซึ่งการออกจากงานของลูกจ้างทั้ง 2 ประเภท ไม่ว่าลูกจ้างเป็นผู้พิจารณาเองสำหรับลูกจ้างประเภทที่ 1 หรือโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นผู้พิจารณาสำหรับลูกจ้างประเภทที่ 2 ต่างก็เป็นการออกจากงานเพราะเหตุการเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อที่ 1 ทั้งสิ้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างไม่ว่าลูกจ้างประเภทที่ 1 หรือลูกจ้างประเภทที่ 2 เกษียณอายุ เป็นกรณีที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง และแม้จะเป็นกรณีที่ลูกจ้างประเภทที่ 1 ใช้สิทธิเกษียณอายุตนเองโดยโจทก์มอบสิทธิดังกล่าวให้ลูกจ้างประเภทที่ 1 เป็นผู้พิจารณาเองก็ยังเป็นเรื่องที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องลูกจ้างขอลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อที่ 10 ไม่ การที่นายสมานซึ่งเป็นลูกจ้างประเภทที่ 1 ขอใช้สิทธิเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อที่ 11 ข้อย่อยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่โจทก์เลิกจ้างนายสมาน เมื่อนายสมานทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมานไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) ซึ่งคำนวณได้เป็นเงิน 1,025,000 บาท เมื่อหักเงินที่โจทก์จ่ายให้แล้วจำนวน 480,000 บาท คงเหลือค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้อีก 545,000 บาท คำสั่งของจำเลยที่ 9/2546 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดแก่นายสมานเป็นเงิน 545,000 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.