คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จ. ทำพินัยกรรมไว้ที่อำเภอระบุว่า ขอมอบที่ดินให้เป็นสมบัติแก่สุเหร่าคันนายาวเพื่อเก็บเงินซึ่งได้จากค่าเช่าที่ดินใช้เป็นประโยชน์ในทางกุศลของสุเหร่าคันนายาว จะทำการหักโอนให้เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อสุเหร่าคันนายาวได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เป็นการแสดงถึงเจตนาโดยแน่ชัดของจ. ว่า จะยกที่ดินให้แก่สุเหร่าคันนายาวเมื่อได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแล้ว แม้ภายหลังจำเลยมิได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแต่ก็ได้จดทะเบียนเป็นมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์การสาธารณกุศลตรงตามวัตถุประสงค์ของ จ. ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ไม่มีอำนาจนำมาแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางเจ๊ะ ฟาอิดิน ตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 18047/2530 นางเจ๊ะมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1493 เนื้อที่ 12 ไร่ 40 ตารางวา จำเลยยึดหน่วงครอบครองโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้โดยไม่มีเหตุอันสมควรโจทก์ทั้งสามไม่สามารถแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นได้ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1493 ตำบลคันนายาว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครแก่โจทก์ทั้งสามหากส่งมอบไม่ได้ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินแทนโฉนดที่ดินที่สูญหาย

จำเลยให้การว่า ก่อนนางเจ๊ะ ฟาอิดิน เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2490 นางเจ๊ะได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของตนเอง โดยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1493 ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลย (สุเหร่าคันนายาว)และนางเจ๊ะได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายหะยีมาน ฟาอิดิน เป็นผู้จัดการมรดก ภายหลังนายหะยีมานร้องขอต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางเจ๊ะ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงแห่งพินัยกรรม อีกทั้งเมื่อนางเจ๊ะได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินและส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1493 ให้แก่จำเลยจำเลยมีเจตนายึดถือเพื่อตน โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่านางเจ๊ะ ฟาอิดิน เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โฉนดเลขที่ 1493ตำบลคันนายาว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร นางเจ๊ะมีบุตร 3 คน คือ นายหะยีโฮม นายหะยีมาน และนายสะอาดหรือหะยีเซ็น ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้นางเจ๊ะเป็นคนสาบสูญและมีคำสั่งให้นายหะยีมานเป็นผู้จัดการมรดกของนางเจ๊ะหลังจากนายหะยีมาน นายหะยีโฮม และนายสะอาดหรือหะยีเซ็นถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 บุตรของนายหะยีโฮม โจทก์ที่ 2บุตรของนายสะอาดหรือหะยีเซ็น และโจทก์ที่ 3 บุตรของนายหะยีมานเป็นผู้จัดการมรดกของนางเจ๊ะ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า นางเจ๊ะได้ทำพินัยกรรมเอกสารแบบฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำสั่งของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งสั่งให้นายหะยีมานเป็นผู้จัดการมรดกของนางเจ๊ะ เนื่องจากนางเจ๊ะเป็นคนสาปสูญนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ก่อนเดินทางไปจากประเทศไทย นางเจ๊ะได้ทำพินัยกรรมไว้ที่อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28มีนาคม 2490 ระบุให้นายหะยีมานผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตามสำเนาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เอกสารหมาย ล.3ข้อ 5 มีข้อความชัดแจ้งว่า “ที่ดินโฉนดเลขที่ 1493 เนื้อที่ดิน12 ไร่ 40 วา ตำบลคันนายาว อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนครที่ดินแปลงนี้ขอยกมอบให้เป็นสมบัติแก่สุเหร่าคันนายาวเพื่อเก็บเงินซึ่งได้จากค่าเช่าที่ดินแปลงนี้ ใช้เป็นประโยชน์ในทางกุศลของสุเหร่าคันนายาว จะทำการหักโอนให้เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ได้นั้นต่อเมื่อสุเหร่าคันนายาวได้ทำการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายแล้ว….. ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการขายหรือหักโอนที่ดินแปลงนี้ให้เป็นสมบัติแก่ผู้อื่น” อันแสดงถึงเจตนาโดยแน่ชัดของนางเจ๊ะเจ้ามรดกว่าประสงค์ที่จะยกที่ดินพิพาทให้แก่สุเหร่าคันนายาว เมื่อได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแล้ว แม้ภายหลังจำเลยมิได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ แต่ก็ได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดซึ่งมีลักษณะเป็นองค์การสาธารณกุศลตรงตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดกตั้งแต่ปี 2492 ก่อนศาลมีคำสั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนสาปสูญ ต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสามได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ก็ได้ฟ้องเรียกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทและโฉนดที่ดินเลขที่ 1642 จากนางมาเรียม เสนีวงศ์ และนายวัชรชัย เสนีวงศ์โดยศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า สำหรับโฉนดที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสามเรียกจากจำเลยทั้งสองนั้นได้อยู่ในความครอบครองของสุเหร่าคันนายาว ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกคำขอส่วนนี้ของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่อุทธรณ์เกี่ยวกับโฉนดดังกล่าว นอกจากนั้นศาลฎีกายังวินิจฉัยยืนยันข้อเท็จจริงไว้ด้วยว่า ทรัพย์มรดกของนางเจ๊ะ เคยมีนายหะยีมานเป็นผู้จัดการมรดกและได้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางเจ๊ะไปตามข้อกำหนด แต่เนื่องจากนายหะยีมานถึงแก่กรรมไปนานแล้วเมื่อศาลตั้งให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก จึงวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกโฉนดที่ดินเลขที่ 1642 จากจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้ เว้นแต่โฉนดที่ดินเลขที่ 1493 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ เพราะอยู่ในความครอบครองของสุเหร่าคันนายาวปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345/2540 เอกสารหมายจ.15 พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวประกอบกับคำเบิกความของนายดิลก ศรีวัลลภ พยานจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมหมาย ล.3 ที่ยืนยันว่า นางเจ๊ะทำพินัยกรรมแบบฝ่ายเมือง เอกสารหมาย ล.3 ที่อำเภอบางกะปิ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการให้และพยานเป็นผู้ร่วมลงลายมือชื่อในฐานะพยานด้วย กับนายวัชรชัย เสนีวงศ์ ซึ่งเป็นอิหม่ามของจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า โฉนดที่ดินพิพาทนั้นจำเลยเป็นผู้เก็บรักษา และปัจจุบันอยู่ที่จุฬาราชมนตรี โจทก์ทั้งสามคงเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า นางเจ๊ะมิได้ทำพินัยกรรมไว้ทั้งที่โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของบุตร นางเจ๊ะเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ทั้งสามเคยเป็นสัปบุรุษของมัสยิดจำเลย จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสามไม่ทราบเรื่องการทำพินัยกรรมของนางเจ๊ะ และการจัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายหะยีมานมาก่อน คำเบิกความของโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งรับฟังได้มั่นคงว่านางเจ๊ะได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจริงอันเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายต่อทายาทโดยธรรมของตนทุกคนมิให้รับมรดกในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสองเมื่อจำเลยได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดมีฐานะเป็นนิติบุคคลในทำนองเดียวกับมูลนิธิตามที่ปรากฏให้พินัยกรรมแล้ว ย่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของจำเลยโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามโดยไม่วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share