คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้รองเลขาธิการเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ในอันที่จะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์คือเลขาธิการซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์เท่านั้น แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันกำหนดไว้ว่า บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องนำระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ
แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 และที่ 26 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แต่ก็ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับต่อไป ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังคงมีผลใช้บังคับได้
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 36 มิใช่บทเฉพาะในอันที่จะไม่สามารถนำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 มาใช้บังคับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งให้ ส. รองเลขาธิการที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 10 วรรคหนึ่ง และข้อ 11 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว และ ส. ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนโดยเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้วว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายด้วยการที่จำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ รายละเอียดความเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไป โจทก์จ่ายเมื่อวันที่เท่าใดและบางรายการโจทก์จ่ายให้ผู้ใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
วันที่ 26 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหนังสือส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยและยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่าย เหตุละเมิดยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยในวันดังกล่าว อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 แต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 113 มาตรา 158 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่มีเฉพาะกรณีที่สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงโดยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง และมาตรา 111 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (9) และเฉพาะในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดที่กระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ลบล้างหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 265 (2) ดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นกัน และจะอ้างว่าไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว ห้ามมิให้จำเลยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐนั้นไม่ได้ เนื่องจากบุคคลทุกคนจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดนั้นไม่ได้ ทั้งการที่ต่อมามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้กระทำเช่นนั้นได้ จึงไม่มีผลลบล้างให้การกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไปแล้วก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกลายเป็นการกระทำที่ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันมีผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไร้ผล ถือว่าจำเลยยังกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไปแล้วยังมีผลอยู่ การที่โจทก์ได้รับความเสียหายต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่และมาฟ้องจำเลยก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเช่นกัน จึงถือว่าจำเลยยังคงกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นเดิม
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป โจทก์จึงยังคงเป็นนิติบุคคล มีอำนาจฟ้องและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 11,967,892.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 11,216,537.64 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังมีผลใช้บังคับ จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 265 (2) เนื่องจากภายหลังที่จำเลยเริ่มมีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตั้งแต่วันเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จำเลยเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) และในบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน เป็นผลให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) โดยเหตุที่มีผู้ร้องเรียน คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงซึ่งก็ได้ความจริงตามที่ร้องเรียนตามรายงานการไต่สวน วันที่ 16 กรกฎาคม 2552 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีมติวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตามคำวินิจฉัย วันที่ 26 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีหนังสือส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 91 วรรคสาม และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 (10) (11) มาตรา 14 วรรคหนึ่ง วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของจำเลยสิ้นสุดลงเนื่องจากจำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นผลให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 ที่จำเลยได้รับการเลือกตั้งมาต้องว่างลง โดยเหตุที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลืออยู่เกินกว่า 180 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่างตามหน้าที่ในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 109 (1) มาตรา 187 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 (1) ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากเขตเลือกตั้งที่ 2 จะมีอยู่จำนวน 546 หน่วยเลือกตั้ง โดยเหตุที่ประกอบด้วยเขตปกครอง 5 เขต คือเขตยานนาวามีจำนวน 97 หน่วยเลือกตั้ง เขตคลองเตยมีจำนวน 132 หน่วยเลือกตั้ง เขตวัฒนามีจำนวน 93 หน่วยเลือกตั้ง เขตสาทรมีจำนวน 106 หน่วยเลือกตั้ง และเขตบางคอแหลมมีจำนวน 118 หน่วยเลือกตั้ง มีประชากรจำนวน 470,445 คน ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึงจำนวน 333,559 คน ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมดูแลการเลือกตั้งในภาพรวม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตปกครองทั้ง 5 เขต และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้งในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำกับดูแลการเลือกตั้งซึ่งต้องใช้บุคลากรถึงจำนวน 6,552 คน ยังไม่รวมบุคลากรในคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังต้องขอรับการสนับสนุนการเลือกตั้งจากหน่วยงานอื่นอีกด้วย คือ กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด การไฟฟ้านครหลวง และบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้การจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีค่าใช้จ่ายซึ่งผลการเลือกตั้งใหม่ปรากฏว่านายอภิรักษ์ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครแทนตำแหน่งที่ว่างแทนจำเลยตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากการที่โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในกิจการทั่วไปและในงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่มอบหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 31 (1) ดังนั้นโจทก์จึงต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ตามหน้าที่ ซึ่งโจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นเงิน 11,216,537.64 บาท โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนแรกจำนวน 3,710,077.28 บาท ค่าใช้จ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตกรุงเทพมหานครส่วนหลังจำนวน 7,506,460.36 บาท รายละเอียดปรากฏตามสรุปรายการค่าใช้จ่าย โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินรายได้ของโจทก์ประเภทเงินอุดหนุนที่โจทก์ได้มาโดยหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัติแล้ว วันที่ 2 ธันวาคม 2553 โจทก์ทำหนังสือของบประมาณรายจ่ายจากรัฐบาล ซึ่งวันที่ 7 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำนักงบประมาณจึงจัดสรรเงินให้มาโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 38 เนื่องจากการที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ถือว่าเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญด้วยการที่จำเลยเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลจากการกระทำของจำเลยเช่นนั้นได้ จากการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลง และตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครที่จำเลยได้รับการเลือกตั้งมาต้องว่างลง คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ทำให้โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ดังกล่าว เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ ดังนั้นจำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปแก่โจทก์ วันที่ 30 ธันวาคม 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีมติให้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้ตามหนังสือ แต่เนื่องจากในช่วงก่อนฟ้องนายสุทธิพล เลขาธิการซึ่งเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 36 ลาออกจากตำแหน่ง จึงทำให้ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการโจทก์ วันที่ 15 กันยายน 2554 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีมติแต่งตั้งให้นายสมชาติ รองเลขาธิการที่มีอาวุโสตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ นายสมชาติรองเลขาธิการโจทก์ผู้รักษาการแทนจึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 หลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่ 24 และที่ 57/2557 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง แต่ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้อย่างที่จำเลยฎีกา แต่เนื่องจากในบทเฉพาะกาล มาตรา 47 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ว่า บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อในเรื่องนี้ยังไม่มีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาใช้บังคับอย่างที่จำเลยฎีกาอีก กรณีจึงต้องนำระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ คือระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 และแม้วันที่ 19 กันยายน 2549 ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 และที่ 26 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แต่ก็ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับต่อไป ดังนั้นระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 จึงยังคงมีผลใช้บังคับได้อยู่ จึงต้องนำมาบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 36 จึงไม่ใช่บทเฉพาะในอันที่จะไม่สามารถนำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 มาใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างที่จำเลยฎีกา เมื่อตามระเบียบดังกล่าวข้อ 10 วรรคหนึ่ง และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ให้รองเลขาธิการที่มีอาวุโสตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทน และให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน เมื่อเป็นดังนี้การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งให้นายสมชาติรองเลขาธิการที่มีอาวุโสตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์จึงชอบแล้ว โดยเหตุที่เป็นการสอดคล้องกับระเบียบดังกล่าว นายสมชาติรองเลขาธิการผู้รักษาการแทนจึงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน ดังนั้นแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ นายสมชาติรองเลขาธิการผู้รักษาการแทนก็เป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังไม่วินิจฉัยตามประเด็นที่จำเลยต่อสู้ตามคำให้การ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยสืบพยานกันจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้วว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายด้วยการที่จำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้ว รายละเอียดความเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไป โจทก์จ่ายเมื่อวันที่เท่าใดและบางรายการโจทก์จ่ายให้ผู้ใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มาฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายคือจำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ เมื่อในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ขณะนั้นยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย จึงยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลย อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่แล้วในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 เมื่อต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2553 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปจากจำเลยหรือไม่ ที่จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 113 มาตรา 158 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์จะเรียกได้นั้นมีเฉพาะกรณีที่สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงโดยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 วรรคหนึ่ง และมาตรา 111 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (9) และเฉพาะในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดที่กระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้น ส่วนในกรณีนี้เป็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) เนื่องจากจำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 265 (2) จึงไม่ใช่กรณีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่จากจำเลย เห็นว่า แม้จะมีกฎหมายกำหนดไว้ดังที่จำเลยฎีกา แต่ก็ไม่ได้ลบล้างหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ที่จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด โดยเหตุที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิทำได้ เห็นว่า หุ้นในบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) และในบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ยังไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยซึ่งจบการศึกษาในชั้นปริญญาตรีมีอาชีพนักการเมืองและมีภูมิลำเนาเป็นคนกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เกิดจะไม่รู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และจำเลยจะมาอ้างว่าไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดห้ามไว้มิให้จำเลยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐนั้นไม่ได้ เนื่องจากบุคคลทุกคนจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดนั้นไม่ได้ กรณีไม่ใช่ความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายที่ยังไม่มีการตีความยุติเป็นบรรทัดฐานว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถกระทำตามคำฟ้องได้หรือไม่อย่างที่จำเลยเบิกความเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว เมื่อจำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยการที่จำเลยเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากจำเลยเนื่องจากเมื่อภายหลังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จึงไม่ถือว่าจำเลยกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่ภายหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดว่าจำเลยกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นจึงไม่มีผลลบล้างให้การกระทำของจำเลยที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงไปแล้วก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกลายเป็นการกระทำของจำเลยไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันมีผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไร้ผลขึ้นมาได้ ถือว่าจำเลยยังกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไปแล้วยังมีผลอยู่ เมื่อการที่โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่และโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเช่นกัน จึงถือว่าจำเลยยังคงกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นเดิม ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงโจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป ดังนั้นโจทก์จึงยังคงเป็นนิติบุคคลจากเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 11,216,537.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด คือวันที่ 12 ธันวาคม 2553 จนกว่าชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 751,355.02 บาท ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 80,000 บาท

Share