คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก. ผู้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยทั้งสองมิใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสอง คำเบิกความของ ก. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานย่อมมิใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด แต่ ก. เบิกความแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนเป็นการเบิกความกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องรอย ทั้งข้อเท็จจริงบางส่วนยังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของ ก. ด้วย จึงมีเหตุผลเชื่อว่า ก. เบิกความช่วยเหลือจำเลยทั้งสองมากกว่าที่จะเบิกความไปตามที่เป็นจริง เชื่อว่า ก. ให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของ ร้อยตำรวจโท ศ. ผู้ร่วมจับกุม ที่ยืนยันว่า ก. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสอง โดยให้ ก. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และนัดรับมอบเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองก็ขับรถจักรยานยนต์มายังบ้านที่เกิดเหตุ แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ก่อนที่จะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ก. การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ร้อยตำรวจโท ศ. และ ร้อยตำรวจโท พ. ผู้ร่วมจับกุมตรวจค้นพบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายในห้องของบ้านที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นกุญแจให้ไขตู้เสื้อผ้าที่ปิดล็อกก็พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และตามบันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นสามีภริยากันและเป็นผู้เช่าบ้านที่เกิดเหตุจริง จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองจึงร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1736/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 12 ปี และปรับคนละ 700,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2522 (ที่ถูก พ.ศ.2534) มาตรา 7 จำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสองกระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกคนละ 9 ปี และปรับ 525,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุกคนละ 3 ปี 9 เดือน และปรับคนละ 300,000 บาท รวมจำคุกคนละ 12 ปี 9 เดือน และปรับคนละ 825,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1736/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ร้อยตำรวจโทศักดิ์ชาย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ่อผุด ร้อยตำรวจโทพิเชษฐ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเกาะสมุย กับพวก ไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 80/2 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เกิดเหตุ พบนายกอเซ็ม และนางสาวกาญจนา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1822/2557 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนั้นจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์มาที่บ้านเกิดเหตุจากการตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุพบเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด รวม 471 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 1 ซอง น้ำหนัก 43.280 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 9.198 กรัม สมุดบัญชีเงินฝาก 2 เล่ม และอุปกรณ์การเสพยาเสพติด 1 ชุด กับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 4822 5xxx ของจำเลยที่ 2 ตามบัญชีของกลางคดีอาญา ร้อยตำรวจโทศักดิ์ชายกับพวกจึงจับกุมนายกอเซ็ม นางสาวกาญจนา และจำเลยทั้งสอง แจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าคำเบิกความหรือคำให้การชั้นสอบสวนของนายกิตติศักดิ์อย่างใดเป็นความจริง นายกิตติศักดิ์เบิกความว่า พยานให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่าจะช่วยล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสอง ซึ่งไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เจ้าพนักงานตำรวจสอบถามพยานว่าสามารถนำเจ้าพนักงานตำรวจไปล่อซื้อยาเสพติดเพิ่มเติมได้หรือไม่ พยานตอบตกลง และได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายกอเซ็ม แต่ขณะนั้นเสียงปลายสายที่รับโทรศัพท์เป็นจำเลยที่ 1 พยานแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า จะไปเอางาน จำนวน 50 เม็ด ตกลงราคาซื้อขาย 15,000 บาท จำเลยที่ 1 แจ้งว่าให้โอนชำระเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยส่งข้อความรายละเอียดหมายเลขบัญชีที่จะให้โอนทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของบัญชี ตกลงนัดหมายรับมอบยาเสพติดที่บ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นของนายกอเซ็ม แต่ไม่ได้นัดหมายเวลาที่จะไปรับมอบยาเสพติด เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมพยานไปที่บ้านที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ช่วงระหว่างเวลา 12 ถึง 18 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุมีการโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 เป็นระยะ บางครั้งก็มีเสียงผู้หญิงที่ปลายสาย พยานยืนยันว่าได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การ หมายเลขโทรศัพท์ที่พยานติดต่อไปเพื่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน คือ หมายเลข 08 4822 5xxx ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 โดยพยานบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของนางมะ และมีรูปภาพของจำเลยที่ 2 ด้วย โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่พยานใช้ติดต่อสั่งซื้อยาเสพติดไม่ใช่ตามภาพถ่าย แต่พยานยืนยันว่าได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 7268 8xxx ในการติดต่อสั่งซื้อยาเสพติด ที่พยานเบิกความในชั้นพิจารณาแตกต่างจากชั้นสอบสวน พยานยืนยันตามคำเบิกความ ซึ่งคำเบิกความของนายกิตติศักดิ์ดังกล่าวเป็นการเบิกความกลับไปกลับมามีลักษณะไม่อยู่กับร่องกับรอย ทั้งข้อเท็จจริงบางส่วนยังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายกิตติศักดิ์ด้วย จึงมีเหตุผลเชื่อว่านายกิตติศักดิ์เบิกความช่วยเหลือจำเลยทั้งสองมากกว่าที่จะเป็นการเบิกความไปตามที่เป็นจริง ที่นายกิตติศักดิ์อ้างว่าพนักงานสอบสวนยื่นข้อเสนอว่าหากล่อซื้อยาเสพติดได้เพิ่มเติมจะไม่ดำเนินคดีแก่พยานนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของนายกิตติศักดิ์ว่าปัจจุบันนายกิตติศักดิ์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำอำเภอเกาะสมุยในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืน ข้ออ้างของนายกิตติศักดิ์จึงเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย เมื่อนายกิตติศักดิ์เบิกความว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ขู่เข็ญหรือใช้กำลังทำร้ายร่างกายนายกิตติศักดิ์ จึงเชื่อได้ว่านายกิตติศักดิ์ให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ แม้นายกิตติศักดิ์ให้การชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุนานประมาณ 4 เดือน ก็ไม่ทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของนายกิตติศักดิ์รับฟังไม่ได้ คำให้การชั้นสอบสวนของนายกิตติศักดิ์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของร้อยตำรวจโทศักดิ์ชายผู้ร่วมจับกุม ที่ยืนยันว่านายกิตติศักดิ์โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสอง โดยให้นายกิตติศักดิ์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และนัดรับมอบเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุ เมื่อนายกิตติศักดิ์ยังไม่โอนเงินโดยแจ้งว่าจะนำเงินไปให้ที่บ้านที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองก็ตกลง ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองก็ขับรถจักรยานยนต์มายังบ้านที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า นายกิตติศักดิ์โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด ราคา 15,000 บาท จากจำเลยทั้งสอง นัดรับเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุ โดยครั้งแรกให้นายกิตติศักดิ์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ต่อมานัดชำระเงินที่บ้านที่เกิดเหตุ แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ก่อนที่จะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่นายกิตติศักดิ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นร้อยตำรวจโทศักดิ์ชาย และร้อยตำรวจโทพิเชษฐ์ผู้ร่วมจับกุม เบิกความได้ความว่าพยานกับพวกตรวจค้น พบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 2 เล่มเล่มหนึ่งชื่อบัญชีนายทวีศักดิ์ ส่วนอีกเล่มหนึ่งชื่อบัญชีนางสาวฮารีมะ อยู่ภายในห้องนอนอีกห้องหนึ่ง แม้โจทก์ไม่มีภาพถ่ายสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาแสดง แต่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทศักดิ์ชายว่า ขณะซุ่มดูเหตุการณ์ที่บ้านที่เกิดเหตุเห็นวัยรุ่นหลายคนอยู่ภายในบ้านที่เกิดเหตุและเห็นอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนวางอยู่ที่ชั้นวางของ พยานจึงแสดงตนเพื่อขอตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ดังนี้ การที่พยานโจทก์ทั้งสองเข้าไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุจึงสืบเนื่องมาจากสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ย่อมไม่มีข้อระแวงให้สงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะกล่าวอ้างว่าสมุดบัญชีเงินฝากที่ค้นพบในบ้านที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองค้นพบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายในห้องของบ้านที่เกิดเหตุจริง พยานโจทก์ทั้งสองยังเบิกความอีกว่า การตรวจค้นตู้เสื้อผ้าที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งปิดล็อกนั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นกุญแจให้ไขล็อกตู้เสื้อผ้า เมื่อพยานโจทก์ทั้งสองเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นในการตรวจค้นตู้เสื้อผ้า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ การที่ข้อเท็จจริงตามที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไม่ปรากฏในบันทึกการตรวจค้นจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสอง กับไม่มีภาพถ่ายขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นกุญแจตู้เสื้อผ้าให้เจ้าพนักงานตำรวจ ก็น่าจะเป็นความบกพร่องของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จัดทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมและพยานโจทก์ทั้งสองเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์ทั้งสองจนทำให้สงสัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้ให้กุญแจไขตู้เสื้อผ้าที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองนัดหมายให้นายกิตติศักดิ์มารับเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุ ตรวจค้น พบสมุดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายในห้องนอนของบ้านที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 ให้กุญแจเปิดตู้เสื้อผ้าที่อยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ ประกอบบันทึกการตรวจค้นจับกุม ระบุว่าจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นสามีภริยากันและเป็นผู้เช่าบ้านที่เกิดเหตุจริง โดยอยู่ร่วมกันมาได้ประมาณ 1 เดือน แล้วจำเลยทั้งสองนอนพักในห้องนอนอีกห้องหนึ่งที่อยู่ติดกัน ส่วนห้องพักอีกห้องหนึ่งที่ค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น นานๆ ครั้ง นายกอเซ็มและนางสาวกาญจนา น้องภริยาจะมาพัก แม้เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำขึ้น แต่จำเลยทั้งสองก็ลงลายมือชื่อไว้ชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองทราบข้อความในเอกสารดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าจำเลยทั้งสองให้การต่อพยานโจทก์ทั้งสองตามความจริง คำให้การดังกล่าวซึ่งเป็นพยานบอกเล่าจึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุ มิใช่เพียงมาเยี่ยมนายกอเซ็มและนางสาวกาญจนาเท่านั้น แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบคำให้การเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุหรือนำเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เช่าบ้านที่เกิดเหตุจริง ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักลดน้อยลง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุในฐานะผู้เช่า เมื่อพยานโจทก์ทั้งสองตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางภายในบ้านที่เกิดเหตุสอดคล้องเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองนัดหมายนายกิตติศักดิ์มารับเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุแล้ว จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share