แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท น. นำจานกระเบื้องซึ่งเป็นของสมนาคุณมามอบให้กับจำเลยที่ 1 เพื่อมอบให้แก่ลูกค้า โจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าดังกล่าวไว้และเห็นข้อความในเอกสารที่แสดงถึงการควบคุมจำนวนที่จัดส่ง โจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารควบคุมการรับจ่ายของที่อยู่ในคลังสินค้า หากโจทก์ประสงค์ที่จะนำจานกระเบื้องซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจำนวนไปใช้ส่วนตัวโดยเข้าใจว่าเป็นของสมนาคุณที่โจทก์มีสิทธินำไปใช้ได้ โจทก์ควรจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคลังสินค้ารับทราบ การที่โจทก์นำจานกระเบื้องที่บริษัท น. มอบให้จำเลยที่ 1 ไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบถือได้ว่าเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 5,407,581 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน จากต้นเงินค่าชดเชยจำนวน 245,200 บาท นับแต่วันเลิกจ้างและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 4,482,740 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 245,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้าง (เลิกจ้างวันที่ 17 พฤษภาคม 2547) เงินตกเบิกจำนวน 10,500 บาท เงินบำเหน็จจำนวน 465,800 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินตกเบิก เงินบำเหน็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 เมษายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวฐณิชชา บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือช่างพิมพ์ ระดับ 3 สังกัดภาคการพิมพ์ ฝ่ายโรงพิมพ์ คพ. 1 ผทส. 14 มล. 142 โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2518 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 โดยให้มีผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,520 บาท มีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 16 และวันที่ 30 ของทุกเดือน ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด นำของสมนาคุณ คือ จานกระเบื้องขนาด 9 นิ้ว ประทับตราเครื่องหมายการค้าเนสท์เล่ จำนวน 21 หีบ แต่ละหีบบรรจุจานกระเบื้อง 24 ใบ มามอบให้ โจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับของดังกล่าวไว้ตามใบสั่งวัสดุส่งเสริมการขาย วันที่ 26 มิถุนายน 2546 โจทก์นำจานกระเบื้องดังกล่าว 11 ใบ ไปใช้ส่วนตัว วันที่ 30 มิถุนายน 2546 ขณะโจทก์จะนำจานกระเบื้องอีก 13 ใบ กลับไปใช้ที่บ้าน จำเลยที่ 3 และนายประกอบ หัวหน้าแผนกคลังสินค้า 32 ตามมาพบโจทก์ที่บริเวณอาคาร 4 อันเป็นสถานที่ตอกบัตรลงเวลาและขอตรวจดูของในถุงพลาสติก เมื่อพบว่าเป็นจานกระเบื้องจึงนำกลับไปเก็บไว้ที่ห้องทำงานของนายประจวบ โจทก์นำจานกระเบื้องออกจากคลังสินค้าไปโดยไม่มีใบสั่งซื้อหรือใบเบิกสินค้าและมิได้แจ้งให้แผนกจัดส่งรับทราบหรือตรวจสอบก่อน จำเลยที่ 1 โดยจำเลย ที่ 2 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในสำเนาใบส่งวัสดุส่งเสริมการขายของบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ปรากฏชัดว่า ผู้รับสินค้าคือองค์การค้าของคุรุสภา อันแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวมอบจานกระเบื้อง 21 หีบ ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อส่งเสริมการขาย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพฤติการณ์ส่อว่า ปิดบังการกระทำของตน ทั้งนายสมเกียรติ พนักงานขายของบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ยืนยันว่านายสมเกียรติมอบจานกระเบื้องซึ่งเป็นของสมนาคุณให้เจ้าหน้าที่คลังสินค้ารวมถึงโจทก์ไปใช้ส่วนตัว พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าโจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์สามารถนำจานกระเบื้องจำนวน 1 หีบ อันเป็นส่วนหนึ่งของจานกระเบื้องสมนาคุณที่บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มอบให้จำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวได้ การกระทำของโจทก์จึงขาดเจตนาทุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุสมควรเพียงพอ จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชย เงินตกเบิก ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินบำเหน็จแก่โจทก์ แต่การกระทำของโจทก์ถือเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คำว่า ทุจริต ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง ความประพฤติชั่ว ไม่ซื่อตรง และตามประมวลกฎหมายอาญา หมายถึง การแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คำว่า ทุจริต จึงมีความหมายถึงการกระทำที่ไม่ซื่อตรง การกระทำที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ ย่อมหมายถึงลูกจ้างที่ไม่ซื่อตรง ใช้หน้าที่ของตนเองแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีหน้าที่จำหน่ายสินค้า การที่โจทก์นำจานกระเบื้อง 13 ใบ ซึ่งเป็นของสมนาคุณที่บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด นำมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อมอบให้แก่ลูกค้าไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว แทนที่โจทก์จะมอบของสมนาคุณให้แก่ลูกค้าตามหน้าที่ของตน จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 119 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เห็นว่า จานกระเบื้องของสมนาคุณของบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ที่โจทก์นำออกไปเป็นของที่มีเอกสารหรือใบส่งวัสดุระบุจำนวนไว้ โจทก์เป็นผู้รับจานกระเบื้องของสมนาคุณและเห็นข้อความในเอกสารดังกล่าวที่แสดงถึงการควบคุมจำนวนที่จัดส่ง โดยโจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารควบคุมการรับจ่ายของที่อยู่ในคลังสินค้า หากโจทก์ประสงค์ที่จะนำจานกระเบื้องซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจำนวนไปใช้ส่วนตัวโดยเข้าใจว่าเป็นของสมนาคุณที่โจทก์มีสิทธินำไปใช้ได้ โจทก์ก็ควรจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคลังสินค้ารับทราบให้เป็นกิจจะลักษณะเสียก่อน หากผู้บังคับบัญชาเชื่อถือและยินยอมให้โจทก์นำไปใช้ ก็ต้องมีการจดแจ้งไว้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบภายหลัง เมื่อโจทก์มิได้แสดงให้เห็นถึงความสุจริตใจของโจทก์ การกระทำของโจทก์จึงถือได้ว่าเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรง อันเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และถือไม่ได้ว่า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนเงินตกเบิก ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในกรณีโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตกเบิกตามฟ้อง แต่เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นความผิดร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตกเบิก สำหรับเงินบำเหน็จนั้น ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพ หมวดเงินบำเหน็จ ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ที่ออกเพราะได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงถึงปลดออกหรือไล่ออก มิให้จ่ายเงินบำเหน็จ เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภา ที่ 229/2546 – 47 ไล่โจทก์ออก โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เงินตกเบิก เงินบำเหน็จและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง