แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้าหลวงประจำจังหวัดไม่มีอำนาจตั้งธรรมการอำเภอเป็นพนักงานสอบสวนคดีอาญาฐานเจ้าพนักงานกระทำการทุจจริตในหน้าที่ การกระทำของคณะกรรมการสอบสวนที่มีนายหนึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่ในคณะกรรมการด้วยนั้นไม่ถือว่าการกระทำของคณะกรรมการเป็นการกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายตามความในมาตรา 116
ย่อยาว
คดีได้ความว่า จำเลยได้ร้องกล่าวโทษเจ้าพนักงานหาว่าทุจจริตต่อหน้าที่ ข้าหลวงประจำจังหวัดจึงตั้ง จ.ผู้บังคับกองตำรวจ ห.นายอำเภอผู้ช่วย แล ป.ธรรมการอำเภอ เป็นกรรมการสอบสวนเรื่องที่จำเลยกล่าวหา จำเลยได้กล่าวต่อเจ้าพนักงานว่า “กรรมการมันไม่ยุตติธรรม ถ้าจะกินสินบน” โจทก์หาว่าจำเลยหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๑๑๖
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรรมการชุดนี้ไม่อยู่ในฐานะไปทำการเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงไม่วินิจฉัยว่าจำเลยจะหมิ่นประมาทจริงดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ พิพากษาให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบราชการบริหาร พ.ศ.๒๔๗๖ ม.๒๑ แลประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.๑๘-๑๒๘ (๒) ต้องนับว่ากรรมการชุดนี้เป็นเจ้าพนักงานทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ที่ว่า ธรรมการอำเภอเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนได้ เพราะตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.๑๘ บุคคลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรานี้หามีอำนาจในเรื่องสอบสวนคดีอาญาไม่ แม้กรรมการอำเภอเป็นหน่วยหนึ่งของคณะกรมการอำเภอ แต่ตาม ม.๑๘ หน้าที่พนักงาสอบสวนเป็นหน้าที่ฉะเพาะตัวบุคคลที่มีตำแหน่งหนึ่ง ๆ และจะเรียกว่าธรรมการอำเภอทำการสอบสวนแทนนายอำเภอผู้ช่วยก็ไม่ได้ เพราะปรากฎว่ามีนายหนึ่งที่เป็นนายอำเภอผู้ช่วยทำการแทนนายเภออยู่แล้วแลจะยกมาตรา ๑๒๘ ข้อ ๒ มาใช้แก่คดีนี้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่การสอบสวนในเรื่องเล็กน้อย จึงเห็นว่าเมื่อการตั้งธรรมการอำเภอไม่เป็นชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของคณะกรรมการสอบสวนที่ข้าหลวงตั้งขึ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ได้ชื่อว่าได้ทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๑๖ จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา ๑๑๖ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น