คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 88/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากกรมสรรพากรแล้วแต่มิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่ง ประมวลรัษฎากรนั้น จำเลยจะมายกขึ้นต่อสู้ในคดีที่ถูกกรมสรรพากรเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายเพราะเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบ เพราะเงินรายรับไม่ใช่ของจำเลยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจสร้างภาพยนตร์ไทย โดยเป็นเจ้าของและผู้สร้างภาพยนตร์ไทยใช้ชื่อว่า “สหนาวีไทยภาพยนตร์” มีรายได้จากการให้เช่าฟิล์มภาพยนตร์ไทยซึ่งต้องเสียภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและภาษีเงินได้แต่จำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากรทำการประเมินภาษีซึ่งจำเลยต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ รวมเป็นภาษีอากรในปี พ.ศ. 2505 เป็นเงิน 24,690.23 บาท พ.ศ. 2506 เป็นเงิน 32,682.99บาท พ.ศ. 2507 เป็นเงิน 49,103.88 บาท และ พ.ศ. 2508 เป็นเงิน 77,102.16 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งให้จำเลยทราบจำนวนภาษีที่จะต้องชำระให้โจทก์ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าจำเลยรับไว้แล้วและจำเลยยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร แต่จำเลยมิได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากรทำการประเมิน ซึ่งจำเลยต้องเสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มรวมเป็นเงินภาษีอากรในปี พ.ศ. 2505 เป็นเงิน 3,435.57 บาท พ.ศ. 2506 เป็นเงิน 4,716.15 บาท พ.ศ. 2507 เป็นเงิน 7,298.07 บาท และ พ.ศ. 2508 เป็นเงิน 12,011.31 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งให้จำเลยทราบจำนวนเงินภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม2512 จำเลยต้องนำเงินภาษีดังกล่าวไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือแจ้งจำนวนภาษีอากร จำเลยไม่ชำระภายในกำหนดและไม่ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 และ 89 ทวิ เพิ่มขึ้นจากที่ประเมิน คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,121.95 บาท รวมเป็นค่าภาษีอากรทั้งสิ้น 232,162.31 บาท หนี้ภาษีอากรตามฟ้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาทและจำเลยประวิงการชำระหนี้โดยไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ได้ย้ายไปตามที่ต่าง ๆ หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายย้ายมาอยู่สถานที่ปรากฏในฟ้องโจทก์ทวงถาม 2 ครั้ง มีกำหนดระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยไม่ชำระ และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ พฤติการณ์ของจำเลยปรากฏชัดว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นเจ้าของ ผู้สร้าง หรือมีธุรกิจในการสร้างภาพยนตร์ไทยเป็นส่วนตัว จำเลยมีฐานะเป็นหุ้นส่วนและตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพยนตร์สหะนาวีไทย ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นเจ้าของผู้สร้าง และประกอบธุรกิจในการสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ไทย จำเลยมิได้มีรายได้จากการให้เช่าฟิล์มภาพยนตร์ไทยตามที่โจทก์ฟ้อง รายได้ที่เจ้าพนักงานตรวจพบเป็นรายได้ของห้างหุ้นส่วน จำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีในฐานะส่วนตัว จำเลยไม่เคยได้รับทราบการที่โจทก์ส่งหนังสือแจ้งจำนวนภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน จึงเป็นเหตุให้จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายจำเลยมิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เห็นว่าตามคำฟ้องและคำให้การกับพยานหลักฐานของโจทก์ คดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งให้งดสืบพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพยนตร์สหะนาวีไทย การติดต่อและรับเงินรายได้จากโรงภาพยนตร์จำเลยทำในฐานะเป็นผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ใช่ฐานะส่วนตัว หนี้ค่าภาษีที่ค้างห้างหุ้นส่วนเป็นผู้รับผิด จะเรียกเก็บจากจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเพิ่งมายกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การว่า รายได้ที่รับมามิใช่รายได้ส่วนตัวของจำเลย แต่เป็นของห้างหุ้นส่วนฯ จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่ให้การต่อสู้ จึงสมควรฟังพยานหลักฐานของจำเลยต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิพากษายืน

ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว วินิจฉัยว่ารายได้ต่าง ๆ ตามฟ้องเป็นรายได้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพยนตร์สหะนาวีไทย ไม่ใช่รายได้ส่วนตัวของจำเลย โจทก์ประเมินเรียกเก็บภาษีจากจำเลยเป็นการไม่ชอบ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์แล้ว และจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานที่เรียกเก็บเอากับจำเลยจึงถึงที่สุด เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วจำเลยมิได้เสีย ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง และให้อำนาจโจทก์ที่จะสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยเอามาชำระค่าภาษีอากรค้างได้ โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ดังนี้ จะเห็นได้ว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของโจทก์โดยบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถึงที่สุดแล้ว และโจทก์มีอำนาจที่จะบังคับเอากับจำเลยได้เช่นเดียวกับหนี้ที่เกิดจากคำพิพากษาของศาลซึ่งถึงที่สุด จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้อีกว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินไม่ชอบ เพราะเงินรายรับไม่ใช่ของจำเลย ไม่ว่าจำเลยจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลหรือต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้อง ถ้าจำเลยเห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินไม่ชอบ ก็จะต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ซึ่งมีขั้นตอนที่จะนำคดีมาสู่ศาลโดยจำเลยจะต้องอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาเสียก่อน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จำเลยจึงต้องผูกพันเป็นลูกหนี้โจทก์ตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยผลของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาล จำเลยจะมายกขึ้นต่อสู้ในคดีนี้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบ เพราะเงินรายรับไม่ใช่ของจำเลยหาได้ไม่ เพราะถ้ายอมให้จำเลยอ้างได้แล้วก็จะไม่มีที่สิ้นสุด ขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้ก็จะไร้ผล อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร ภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเอากับจำเลยเป็นเงิน 232,162.31 บาท จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและถึงกำหนดชำระแล้ว

ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

พิพากษายืน

Share