แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลรวมถึงความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างดี เป็นคำฟ้องที่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว แม้จะมิได้ระบุชื่อตัวการและถิ่นที่อยู่มา หรือจำเลยร่วมกับผู้ใดทำการขนส่งหลายทอดหลายต่อก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบต่อไป ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นตัวแทนบริษัทต่างประเทศขนสินค้าของบริษัท ส. จากผู้รับขนหลายคนหลายทอดหลายต่อ แต่ทางนำสืบของโจทก์ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยรับขนในฐานะตัวการจากต้นทางส่งปลายทางทอดเดียว เมื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาในการขนส่งสินค้ากับบริษัท ส. อันจะต้องรับผิดต่อบริษัท ส.ในการที่สินค้าที่รับขนสูญหายระหว่างการขนส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 616 อยู่แล้ว แม้ตามฟ้องจะบรรยายว่าจำเลยเป็นตัวแทนขนสินค้าหลายทอดหลายต่อ แต่ตามมาตรา 617, 618 ก็บัญญัติให้จำเลยต้องรับผิดในการสูญหายแห่งสินค้าในระหว่างการขนส่งอยู่นั่นเอง แม้จะฟังข้อเท็จจริงไปในทางใด ก็หาทำให้จำเลยพ้นความรับผิดเกี่ยวกับการนี้ไม่ ยังไม่พอให้ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และไม่ปรากฏว่ามีการตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องการสูญหายของสินค้าระหว่างการรับขนก่อนส่งมอบว่าให้นำกฎหมายหรือกฎข้อบังคับว่าด้วยการขนของทางทะเลของประเทศใดมาใช้บังคับ ความรับผิดในเรื่องนี้จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616, 625 ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงมาใช้บังคับ โดยตามมาตรา 616 กำหนดให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการสูญหายแห่งของที่เขามอบหมายแก่ตนระหว่างการขนส่ง อันหมายถึงว่าต้องรับใช้เต็มราคาแห่งของที่สูญหายและมาตรา 625 บัญญัติให้ข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามใบตราส่งเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดนั้น
ในใบตราส่งได้ระบุเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งไว้ การที่บริษัท ส.เซ็นชื่อรับสินค้าไว้ที่ด้านหลังเอกสารดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการที่บริษัท ส.ยอมรับเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิด หากแต่เป็นการเซ็นรับสินค้าที่จำเลยขนส่งมา จึงฟังว่าข้อจำกัดความรับผิดที่ฝ่ายจำเลยกำหนดขึ้นเองเป็นโมฆะเพราะบริษัท ส.มิได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้ง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยการขนส่งเครื่องจักรผลิตปูนซีเมนต์และเครื่องอะไหล่ไว้กับบริษัท สยามซีเมนต์ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าว ในระหว่างการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กมายังการท่าเรือแห่งประเทศไทยกรุงเทพมหานคร โดยเป็นตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศซึ่งรับเป็นผู้ขนส่งหลายต่อและหลายทอดและรับมอบสินค้าที่จำเลยรับขนที่โจทก์รับประกันภัยมาครบถ้วน ปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยและที่จำเลยรับขนหายไป ๒ ลัง ราคา ๑๐๔,๕๕๐.๕๗ บาท แต่จำเลยใช้ค่าเสียหายให้บริษัท สยามซีเมนต์เทรดดิ้ง จำกัด เพียง ๘,๙๑๙ บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย จึงได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนที่เหลือ ๙๕,๖๓๑.๕๗ บาท ให้ผู้ซื้อสินค้าเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายส่วนนี้ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิ จำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวน ๙๘,๓๒๓.๖๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน ๙๕,๖๓๑.๕๗ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ใด ร่วมกับผู้ใดในการรับขนหลายคนและหลายทอดนอกจากนี้ จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยมิได้เป็นตัวแทนของผู้รับทำการขนส่งจากต่างประเทศตามฟ้อง และจำเลยมิได้เป็นผู้แทนผู้ใด ในการทำสัญญากับบริษัทสยามซีเมนต์ เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัทดังกล่าวยอมตกลงชัดแจ้งตามข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในใบตราส่ง (บิลออฟแลดดิ้ง) ซึ่งกำหนดให้รับผิด ๑๐๐ ปอนด์ต่อสินค้า ๑ ชิ้น และจำเลยได้ชำระค่าเสียหายตามข้อจำกัดความรับผิดนั้นแล้วข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ในการนี้ จะนำบทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้และจะอ้างเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งก็ไม่ได้ เพราะความรับผิดเกี่ยวกับการรับขนทางทะเลมีลักษณะพิเศษแตกต่างกับการรับขนทั่วไป มีวิธีการขนส่งและระเบียบกฎเกณฑ์ แตกต่างกันโดยให้ใช้สนธิสัญญาสากลอันถือเป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลไว้โดยเฉพาะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๙๕,๖๓๑.๕๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๔จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน ๒,๖๙๒.๐๙ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นแรกที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ซึ่งจำเลยอ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทต่างประเทศว่าเป็นประเทศไหน ตั้งอยู่ที่ใด ใครเป็นตัวการและว่าโจทก์บรรยายฟ้องวกวนยากที่จะเข้าใจได้ เห็นว่าตามฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับการขนส่งรวมถึงความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างดี เป็นคำฟ้องที่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ แล้ว แม้จะมิได้ระบุชื่อตัวการและถิ่นที่อยู่มาหรือจำเลยร่วมกับผู้ใดทำการขนส่งหลายทอดหลายต่อ ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบต่อไป และเมื่อตามฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีโดยชัดแจ้งแล้ว ก็ไม่จำต้องแนบเอกสารเกี่ยวกับการนี้มาพร้อมฟ้องดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม
ในประเด็นที่ว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่โดยตามฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นตัวแทนบริษัทต่างประเทศขนสินค้ารายนี้จากผู้รับขนหลายคนหลายทอดหลายต่อ แต่ทางนำสืบของโจทก์ ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยรับขนในฐานะตัวการจากต้นทางส่งปลายทางทอดเดียว ซึ่งหากจำเลยเป็นตัวแทน โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากตัวการ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญาในการขนส่งสินค้ารายนี้กับบริษัทสยามซีเมนต์ เทรดดิ้ง จำกัด อันจะต้องรับผิดต่อบริษัทสยามซีเมนต์เทรดดิ้ง จำกัด ในการที่สินค้าที่รับขนสูญหายระหว่างการขนส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๖ อยู่แล้วแม้ตามฟ้องจะบรรยายว่า จำเลยเป็นตัวแทนขนสินค้ารายนี้หลายทอดหลายต่อแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๗, ๖๑๘ ก็บัญญัติให้จำเลยต้องรับผิดในการสูญหายแห่งสินค้าในระหว่างการขนส่งอยู่นั่นเอง ดังนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงไปในทางใด ก็หาทำให้จำเลยพ้นความรับผิดเกี่ยวกับการนี้ไม่ ยังไม่พอให้ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๙ วรรคสองบัญญัติว่า ‘รับขนของทางทะเล ท่านให้ใช้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น’ แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และกรณีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องการสูญหายของสินค้าระหว่างการรับขนก่อนส่งมอบว่าให้นำกฎหมายหรือกฎข้อบังคับว่าด้วยการขนของทางทะเลของประเทศใดมาใช้บังคับความรับผิดในเรื่องนี้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๖, ๖๒๕ ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงมาใช้บังคับ โดยตามมาตรา ๖๑๖ กำหนดให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการสูญหายแห่งของที่เขามอบหมายแก่ตนระหว่างการขนส่ง อันหมายถึงว่าต้องรับใช้เต็มราคาแห่งของที่สูญหาย และมาตรา ๖๒๕ บัญญัติให้ข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามใบตราส่งเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำสืบถึงการจำกัดความรับผิดไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องนำกฎหมายใกล้เคียงคือมาตรา ๖๒๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้บังคับ ที่จำเลยฎีกาว่าบริษัทสยามซีเมนต์ เทรดดิ้ง จำกัด เซ็นชื่อรับรองหลังใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.๑ ถือว่าบริษัทดังกล่าวยอมรับข้อจำกัดความรับผิด ข้อ ๓๐ ที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้นแล้วก็ได้ความจากคำเบิกความของนายสุธรรม พยานจำเลยว่า เมื่อสินค้ามาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว บริษัทสยามซีเมนต์ เทรดดิ้ง จำกัด จะนำเอกสารหมาย ล.๑ ไปชำระราคาและเซ็นรับสินค้าด้านหลังเอกสารหมาย ล.๑ หากสินค้านั้นไม่ครบจำนวนก็จะมีการทำหลักฐานไว้ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนของจำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้ ดังนี้ การเซ็นชื่อหลังเอกสารหมาย ล.๑ จึงไม่ใช่เป็นการที่บริษัทสยามซีเมนต์เทรดดิ้ง จำกัด เซ็นชื่อยอมรับเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดหากแต่เป็นการเซ็นรับสินค้า ที่จำเลยขนส่งมาดังกล่าวแล้ว จึงฟังว่าข้อจำกัดความรับผิดที่ฝ่ายจำเลยกำหนดขึ้นเองเป็นโมฆะ เพราะบริษัทสยามซีเมนต์เทรดดิ้ง จำกัด มิได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๖๙,๘๗๑.๒๕ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ.