แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันข้อมูลที่บรรจุอยู่ในเอกสารรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอก การที่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางธุรกิจของจำเลยนำเอกสารหลายร้อยแผ่นออกไปจากบริษัทจำเลยแต่ข้อความในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญตามกฎหมายที่มีไว้สำหรับแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้จะมีราคาทุนและราคาสินค้าอันเป็นข้อมูลทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ปกปิดมิให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ แต่โจทก์เอาออกไปเพื่อประกอบการศึกษางานโดยมิได้นำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบัญชี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสืออ้างเหตุว่า โจทก์ฝ่าฝืนประกาศหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงในข้อ 6.11 โดยนำเอกสารสำคัญของจำเลยไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยอ้าง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน22,400 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 63,000 บาท และค่าจ้างเป็นเงิน20,300 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบัญชี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงในข้อ 6.11 โดยนำเอกสารสำคัญทางบัญชีรวมทั้งรายละเอียดของลูกค้าทั้งต้นฉบับและสำเนาซึ่งเป็นความลับของจำเลยออกไปจากบริษัทเพื่อใช้ประกอบการทำงานในบริษัทใหม่ของตนอันเป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเอง หรือใช้ในการทำงานของบริษัทใหม่ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับจำเลย เอกสารดังกล่าวหากตกอยู่ในครอบครองของบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจกับจำเลยอาจทำให้จำเลยเสียหายมาก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และมีบริษัทในเครือเดียวกัน 6 ถึง 7 บริษัทจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2541 ตำแหน่งสมุห์บัญชี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีคำสั่งเป็นหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 ระบุเหตุเลิกจ้างว่าฝ่าฝืนประกาศหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 6.11 โดยนำเอกสารสำคัญออกจากบริษัทจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หลังจากเลิกจ้างจำเลยโอนค่าจ้างเดือนสุดท้ายเข้าบัญชีโจทก์แล้ว โจทก์เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทจำเลยในตำแหน่งสมุห์บัญชี ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบัญชี มีผู้ใต้บังคับบัญชา 6 ถึง 7 คน โจทก์ต้องดูแลบัญชีกลุ่มบริษัทในเครือทั้งหมด และต้องดูแลรับผิดชอบทำประมาณการกลางปีต้องดูแลควบคุมการเสียภาษีของกลุ่มบริษัทในเครือ ทั้งมีหน้าที่ให้ข้อมูลและตอบคำถามแก่ผู้สอบบัญชี โจทก์เคยนำเอกสารไปทำบัญชีที่บ้านเพื่อเสียภาษี และให้นายยงยุทธ ปิ่นปลื้มจิตต์ กรรมการของจำเลยไปรับเอกสารคืนที่บ้านโจทก์ โจทก์เป็นคนขยันมีความพยายามเรียนรู้งาน โจทก์ถูกปรับตำแหน่งสองครั้ง ครั้งแรกลดอำนาจจากดูแลรับผิดชอบบัญชีกลุ่มบริษัทในเครือทั้งหมดเหลือให้รับผิดชอบเพียง 2 บริษัท ครั้งที่สองปรับจากคุมงานบัญชีให้เป็นผู้ช่วยของกรรมการผู้จัดการต้องพ้นจากตำแหน่งสมุห์บัญชี ไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชา โจทก์ไม่พอใจ โจทก์ได้นำเอกสารหมาย ล.10 ออกจากที่ทำงานของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อศึกษางานโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปเผยแพร่แก่บุคคลภายนอก และโจทก์ก็ไม่มีธุรกิจส่วนตัวแข่งขันกับกิจการของจำเลย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งไม่ใช่เอกสารสำคัญตามกฎหมายออกจากที่ทำงานไปไว้ที่บ้านเป็นการขัดคำสั่ง และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์มิใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ทำให้จำเลยเสียหายและไม่ใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 63,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.7 ประกอบคำสั่งในประกาศตามเอกสารหมาย ล.8 ของจำเลยมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันข้อมูลที่บรรจุอยู่ในเอกสารรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอก เอกสารหมาย ล.10มีข้อมูลเกี่ยวกับราคาทุนและราคาสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลทางการค้าและธุรกิจของจำเลยอันจำเป็นต้องสงวนและปกปิดไม่ให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ การที่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางธุรกิจของจำเลยนำเอกสารหมาย ล.10 จำนวนหลายร้อยแผ่นออกไปจากบริษัทจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันธุรกิจการค้าของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อความในเอกสารหมาย ล.10เป็นศัพท์เฉพาะที่โจทก์แปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยเพื่อความสะดวกในการลงบัญชีและเพื่อชี้แจงหรือตอบคำถามของผู้สอบบัญชีเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญตามกฎหมายที่มีไว้สำหรับแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้เอกสารหมาย ล.10จะมีราคาทุนและราคาสินค้าอันเป็นข้อมูลทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ปกปิดมิให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ แต่โจทก์ก็มิได้นำเอกสารดังกล่าวนี้ไปเผยแพร่ต่อบุคคลภายนอก การที่โจทก์นำเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งโจทก์ทำขึ้นออกไปนอกบริษัทจำเลยเพื่อประกอบการศึกษางานโดยมิได้นำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง