คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยอ้างว่าโจทก์ขายที่ดินบางส่วนให้จำเลย จำเลยชำระเงิน 145,000 บาทให้โจทก์แล้ว โจทก์ยอมให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อต่อมาโจทก์ผิดสัญญาจึงขอให้บังคับโจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้จำเลย โจทก์ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยยังค้างชำระราคาที่ดินโจทก์เป็นเงิน 615,000 บาท การที่โจทก์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อเกิดจากการฉ้อฉลและสำคัญผิดจึงเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง และขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยออกจากผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อกับริบเงินมัดจำ 145,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้จำเลยตามฟ้องกับยกฟ้องแย้งโจทก์คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยตกลงซื้อที่ดินจากโจทก์ 72 ตารางวาตารางวาละ 11,000 บาท เป็นเงิน 792,000 บาท จำเลยชำระเงิน145,000 บาท คงค้าง 640,000 บาท จำเลยขอให้โจทก์ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดไว้ก่อน ต่อมาโจทก์ทวงถามให้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนั้น ฟ้องแย้งในคดีเดิมของโจทก์จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้และโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมมีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งด้วย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) โจทก์ฎีกาเพียงแต่ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปตามรูปคดี มิได้เรียกร้องอะไรจากจำเลย จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 200 บาท ตามตาราง 1(2) ก ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากโจทก์เนื้อที่ 72 ตารางวา ตารางวาละ 11,000 บาทรวมเป็นเงิน 792,000 บาท จำเลยชำระเงินในวันทำสัญญา 145,000 บาทคงค้าง 640,000 บาท จำเลยขอให้โจทก์ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไว้ก่อน จำเลยจะชำระเงินส่วนที่เหลือให้โจทก์ หลังจากโจทก์ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแล้ว จำเลยให้โจทก์ทำสัญญาต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินว่า จำเลยให้ค่าตอบแทนหรือค่าซื้อขายที่ดินโจทก์ 72 ส่วนใน 2,552 ส่วนเป็นเงิน 145,000 บาท โดยเจตนาอำพรางราคาที่แท้จริงตามสัญญาซื้อขาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินภาษีในการซื้อขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่โจทก์จำเลยตกลงกัน โจทก์จึงใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและทำบันทึกว่าจำเลยได้ชำระค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงิน 145,000 บาท ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงิน640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วว่าสัญญาจะซื้อขายทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ต้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่พิพาทในราคา 145,000 บาท และจำเลยชำระราคาให้โจทก์คดีนี้ครบถ้วนแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้นระหว่างนายอัคเดช จงขวัญยืน โจทก์ นางสุชาดา กุสุมภ์ จำเลยเรื่องที่ดินซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยอ้างว่า โจทก์ขายที่ดินบางส่วนให้จำเลย จำเลยชำระเงิน 145,000 บาท ให้โจทก์แล้วโจทก์ยอมให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาจึงขอให้บังคับโจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้จำเลย โจทก์ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยยังค้างชำระราคาที่ดินโจทก์เป็นเงิน615,000 บาท การที่โจทก์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อเกิดจากการฉ้อฉลและสำคัญผิดจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้องและขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยออกจากผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อกับริบเงินมัดจำ 145,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้จำเลยตามฟ้อง กับยกฟ้องแย้งโจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาต่อมา คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องแย้งในคดีเดิมว่าจำเลยตกลงซื้อที่ดินโจทก์ 72 ตารางวาตารางวาละ 11,000 บาท เป็นเงิน 792,000 บาท จำเลยชำระเงิน145,000 บาท คงค้าง 615,000 บาท ต่อมาในวันทำสัญญาจำเลยใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนด โจทก์ขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนนิติกรรมกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 9953 ดังนั้นฟ้องแย้งในคดีเดิมของโจทก์จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้และโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมมีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งในคดีเดิมด้วย เมื่อคดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าโจทก์ฎีกาเพียงแต่ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปตามรูปคดีมิได้เรียกร้องอะไรจากจำเลย จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 200 บาท ตามตาราง 1(2) ก ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เกินให้โจทก์”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่โจทก์เสียเกินมาแก่โจทก์

Share