แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ระบุใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานในบัญชีพยานและมิได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 อันต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังใบเสร็จรับเงิน เห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบพยานโดยเบิกความและอ้างส่งใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองหลังจากนั้นนานถึง 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน และนำสืบหักล้างหรือปฏิเสธได้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 และหม่อม อ. เบิกความ ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงิน และหม่อม อ. ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง คดีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับฟังใบเสร็จรับเงิน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 106,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 106,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 15,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 อยู่ติดกัน ตั้งอยู่ เขตดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 งาน 16 ตารางวา และ 3 งาน 19 ตารางวา มีบ้านเลขที่ 582/1 เขตดุสิต กรุงเทพมหาคร ซึ่งเรียกว่า วัง อ. ตั้งอยู่ในที่ดินนี้ ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2520 เป็นของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ภ. บิดาหม่อมเจ้า ฐ. จำเลยทั้งสองเป็นบุตรของหม่อมเจ้า ฐ. กับหม่อม อ. หม่อม อ. เป็นหนึ่งในผู้จัดการมรดกสองคนของหม่อมเจ้า ฐ. ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 ได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินสองแปลงมายังผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้า ฐ. และวันเดียวกันได้จดทะเบียนขายทั้งสองแปลง (โอนให้บุคคลอื่นเพื่อชำระหนี้สถาบันการเงิน) แก่นาย ท. และนาง ส. สามีภริยา หม่อม อ. กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นเงินจำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์อ้างว่าประมาณ 30,000,000 บาท แต่หม่อม อ. อ้างว่าไม่เกิน 5,000,000 บาท โดยหม่อม อ. นำเช็คและทรัพย์สินมีค่ามอบแก่โจทก์เป็นประกัน ต่อมาหม่อม อ. ต้องการซื้อวัง อ. (ซึ่งก็คือที่ดินสองแปลงและบ้านเลขที่ดังกล่าว) คืนจากนาย ท. และนาง ส. จึงขอกู้ยืมเงินจากโจทก์และจะจดทะเบียนจำนองที่ดินสองแปลงและบ้านเลขที่ดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์ตกลงให้กู้ยืมโจทก์คิดคำนวณเงินที่หม่อม อ. กู้ยืมไปดังกล่าวและยังมิได้ชำระพร้อมดอกเบี้ยรวมเข้าไปในการกู้ยืมและจำนองด้วย โดยโจทก์อ้างว่าคิดคำนวณแล้วได้เป็นเงินรวม 106,000,000 บาท ในการกู้ยืมและจำนองครั้งนี้หม่อม อ. ได้ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมและจำนอง ในวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ได้มีการจดทะเบียนขายและจำนอง โดยจดทะเบียนว่านาย ท. และนาง ส. ขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อโจทก์ ชั้นพิจารณาของศาล ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ 1 ปากคือตัวโจทก์ ระหว่างสืบพยานโจทก์อ้างส่งเอกสารศาลชั้นต้น แล้วทนายโจทก์แถลงหมดพยาน ต่อมาศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยทั้งสอง 2 ปาก คือจำเลยที่ 1 และหม่อม อ. แล้วทนายจำเลยทั้งสองแถลงหมดพยาน จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือกู้เงินตามกฎหมายใหม่ (ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1) ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงิน และลงลายมือชื่อผู้จำนองในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด (ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3) กับรับว่าในวันจำนองจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ตามเช็คสามฉบับตามคำให้การของจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงิน 53,500,000 บาท จริง ส่วนโจทก์อ้างว่าในวันจำนองนอกจากแคชเชียร์เช็คสามฉบับแล้วโจทก์ยังได้จ่ายเงินสดแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท หม่อม อ. เบิกความรับว่าตนลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้ไว้ต่อโจทก์ สำหรับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ โจทก์เสียอากรโดยการปิดแสตมป์แต่ไม่ได้ขีดฆ่า ส่วนสัญญาค้ำประกันมิได้เสียอากรโดยการปิดแสตมป์แต่อย่างใด สำหรับใบเสร็จรับเงิน โจทก์มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและมิได้ส่งสำเนาแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และ 90 แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ปิดแสตมป์และไม่ได้ขีดฆ่า ไม่อาจรับฟังหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เป็นพยานหลักฐานได้ แต่รับฟังหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 106,000,000 บาท ส่วนสัญญาค้ำประกันมิได้ปิดแสตมป์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อรับฟังคำเบิกความของโจทก์ประกอบหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม กับเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามมาตรา 87 (2) รับฟังใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งด้วยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์นอกจากโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปชัดแจ้งว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนดเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าวแล้ว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความเป็นใจความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความชัดเจนในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วยแล้ว เช่นนี้ พอถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกเอาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนดมาวินิจฉัยว่า โจทก์มีหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนดเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์มิได้ระบุใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานไว้ในบัญชีพยานและมิได้ส่งสำเนาแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และ 90 ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังใบเสร็จรับเงิน การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังใบเสร็จรับเงิน จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบพยานโดยโจทก์เบิกความและอ้างส่งใบเสร็จรับเงิน เป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองหลังจากนั้นนานถึง 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน และนำสืบหักล้างหรือปฏิเสธได้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 และหม่อม อ. เบิกความ จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง และหม่อม อ. ก็เบิกความรับว่าหม่อม อ. ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง คดีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับฟังใบเสร็จรับเงิน ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม รับฟังใบเสร็จรับเงิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ